กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการบินโดยใช้เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผัน ด้วยการโปรยน้ำและน้ำแข็งแห้ง เพื่อเป็นการเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองขึ้นไปได้ เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงกรุงเทพฯ-ปริมณฑล พร้อมทั้งวางแผนติดตามสภาพอากาศป้องกันปัญหาภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำสำหรับการเริ่มเพาะปลูก และให้การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในภารกิจดับไฟป่า ที่ส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแพร่ ได้ปฏิบัติการบินดังกล่าวใช้เครื่องบินชนิด CN จำนวน 1 ลำ และ CASA จำนวน 1 ลำ ขึ้นปฏิบัติการโปรยน้ำจำนวน 3,000 ลิตร ให้เป็นรูปก้นหอย รัศมี 7 NM ในช่วงเวลา 13.52-14.07 น. และ 14.20-14.52 น. ในช่วงวันที่ 4-10 มี.ค. 67 สามารถบรรเทาปัญหาในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ และ น่าน ส่งผลให้ค่า PM2.5 ในพื้นที่มีแนวโน้มลดลง
นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาพรวมผลปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.67 ถึงปัจจุบัน ในภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ ภารกิจบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ เสริมด้วยภารกิจสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในการตักน้ำดับไฟป่า รวมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยบิน
โดยมีอากาศยาน 4 ลำ ได้แก่ อากาศยานขนาดใหญ่ (CN) 1 ลำ ขนาดกลาง (CASA) 1 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ รวมถึงเครื่องบิน SKA อีก 1 ลำ จากการปฏิบัติการทั้งสิ้น 50 วัน รวม 143 เที่ยวบิน ในพื้นที่ 15 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ บินปฏิบัติการทั้งสิ้น 16 วัน 20 เที่ยวบิน ในบริเวณพื้นที่ อ.เมืองฯ สะเมิง แม่วาง แม่ออน แม่แตง พร้าว เชียงดาว จอมทอง ฮอด ดอยเต่า และ อ.อมก๋อย อีกทั้งยังมีเฮลิคอปเตอร์ ร่วมบินปฏิบัติการตักน้ำดับไฟป่าไปแล้วทั้งสิ้น 4 วัน 32 เที่ยวบิน และยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วงชิงจังหวะที่เหมาะสมในการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 67)
Tags: กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, การบิน, ฝนหลวง, ฝนเทียม, ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นละออง, ไฟป่า