เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ เพื่อให้หน่วยงานและธนาคารทุกแห่งร่วมกันกำหนดมาตรการดูแลประชาชนจากมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าแก๊งค์คอลเซนเตอร์
สาระสำคัญของกฎหมายฉลัลนี้ คือ กำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ เครือข่ายโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ต โดยหน่วยงานของรัฐ เช่น ตำรวจ DSI หรือ ป.ป.ง มีอำนาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ โดยมีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ส่งข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งานเท่าที่จำเป็นได้
นอกจากนั้น ยังให้สิทธิธนาคารระงับหรือยับยั้งธุรกรรมที่ต้องสงสัยหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวแต่ไม่เกิน 7 วันเพื่อตจรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ธนาคารพบเหตุเองหรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ แต่หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายแจ้งเหตุเองผู้เสียหายจะต้องไปร้องทุกข์ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนแจ้งข้อระงับยับยั้งธุรกรรมนั้น ๆ ซึ่งการร้องทุกข์จะทำต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ใดก็ได้ซึ่งรวมถึงการร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์
พ.ร.ก. ดังกล่าวก็ยังได้กำหนดความผิดและกำหนดโทษข้อการกระทำความผิดซึ่งเกี่ยวเนื่องจากการกระทำความผิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การเปิดบัญชีม้า หรือซิมโทรศัพท์ม้า ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การจัดหาหรือซื้อขายบัญชี ให้มีโทษจำคุก 2 ถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 แสนถึง 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการจัดหาหรือซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งลงทะเบียนในนามบุคคลอื่นแล้วแต่ไม่สามารถระบุผู้ใช้จริงได้ ให้มีโทษจำคุก 2 ถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 แสนถึง 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เก็บสถิติการอายัดเงินก่อนและหลังการบังคับใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าวจนถึงช่วงต้นปี พ.ศ.2567 นี้พบว่าก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้มีการขออายัดเงินจากธุรกรรมต้องสงสัยหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดประมาณ 1,300 ล้านบาท แต่อายัดได้ทันเพียง 53 ล้านบาท และหลังจากที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวมีการขออายัดเงินประมาณ 7,000 ล้านบาทและอายัดได้ประมาณ 1,700 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากสถิติดังกล่าวแล้ว แม้จะมียอดการอายัดธุรกรรมที่ต้องสงสัยหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่ความเสียหายจากแก็งค์คอลเซนเตอร์กลับไม่ได้ลดลง ทั้งยังเพิ่มขึ้นหลายเท่า แม้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 จะถูกบังคับใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยการอายัดเงิน แต่ก็อาจไม่ทันการ และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ความเสียหายและการกระทำความผิดไม่ได้รับการป้องกัน ปัญหาแก๊งค์คอลเซนเตอร์ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของหน่วยงานรัฐไม่เพียงหน่วยงานตำรวจเท่านั้นที่ยังจะต้องหาทางป้องกันแก้ไขกันต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 67)
Tags: Decrypto, SCOOP, อาชญากรรมทางเทคโนโลยี, แก๊งค์คอลเซนเตอร์