ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)มองสัปดาห์ถัดไป (11-15 มี.ค.)กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.15-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ตัวเลขยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมี.ค.และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (final) ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของอังกฤษ ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.ของยูโรโซน และตัวเลขการปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนก.พ. ของจีนด้วยเช่นกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทแข็งค่าขึ้นตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่องหลังจากที่สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด หนุนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเริ่มปรับลด อัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะเมื่อเฟดมั่นใจว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอลงกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมาย
นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ.ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกันเงินบาทมีแรงหนุนเพิ่มเติมตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกซึ่งพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในระหว่รงสัปดาห์
ในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 มี.ค. 67)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,602 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยเล็กน้อยที่ 198 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 203 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 5 ล้านบาท)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 67)
Tags: KBANK, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท