เช็คเลยดัชนีความร้อนพุ่งมีผลอะไรบ้าง?

หลายวันมานี้คงได้ยินข่าวเรื่องสภาพอากาศบ้านเราที่ร้อนระอุอุณหภูมิแตะกว่า 40 องศาเซลเซียสในหลายจังหวัด ซึ่งเป็นผลจากค่าดัชนีความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น ค่าความชื้นในดินที่ต่ำลง สภาวะอากาศที่แปรปรวนและปิด สภาวะโลกร้อนที่คืบคลานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าเราจะต้องเฝ้าระวังในหลากหลายด้านเพราะสิ่งที่จะตามมาล้วนแต่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราทั้งสิ้น

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ค่าดัชนีความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดังนี้

– ด้านสิ่งแวดล้อม ค่าดัชนีความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ไฟป่าที่ยังครุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเกิดจุดความร้อนขึ้นสูงมาก จนบางประเทศขึ้นแตะนิวไฮในช่วงที่มีการเก็บข้อมูลจุดความร้อนของแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา เกิดจุดความร้อนภายในประเทศสูงสุดถึง 3,013 จุด นับตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลในช่วงฤดูกาลไฟป่าเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66 จนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเองอย่างพม่าก็พุ่งสูงเช่นกันถึง 6,332 จุด

ดังนั้น เป็นสัญญาณที่บอกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศโดยรอบอีกด้วย ซึ่งก็คือในเรื่องของ PM 2.5 ทำให้หลายพื้นที่มีค่าคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และระบบทางเดินหายใจ ในระดับสีแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง

– ด้านสุขภาพอนามัย PM 2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจโดยตรง ค่าดัชนีความร้อนที่สูงขึ้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายมากขึ้น เป็นตะคริว เพลียแดด หรืออาจจะมีความรุนแรงถึงขึ้นฮีทโสตรก Heat Stroke จนอาจเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ โดยเฉพาะคนทำงานในกลุ่มเสี่ยง เช่น เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อากาศที่ร้อนบวกกับควันไฟอาจจะทำให้เป็นลมหมดสติได้ หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้งตลอดเวลา จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษมากขึ้นเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 67)

Tags: ,