สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การจัดส่งสมาร์ตโฟนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2567 สวนทางกับภูมิภาคอื่น ๆ ที่ยังคงซบเซา โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นความหวังของบรรดาผู้ผลิตสมาร์ตโฟน ยังคงดึงดูดแบรนด์ใหม่ ๆ และเม็ดเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง
คานาลิส (Canalys) บริษัทวิเคราะห์ตลาดเทคโนโลยี เปิดเผยผลการวิจัยเมื่อวันพุธ (6 มี.ค.) ว่า ตลาด 5 อันดับแรกในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย มียอดจัดส่งสมาร์ตโฟน 7.26 ล้านเครื่องในเดือนม.ค. 2567 เพิ่มขึ้นมากถึง 20% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า ตลาดยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การจัดส่งสมาร์ตโฟนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบรายปีเป็นไตรมาสแรกในรอบเกือบ 2 ปี เนื่องจากอุตสาหกรรมฟื้นตัวหลังยุคโควิด
ในเดือนม.ค. ซัมซุง (Samsung) สามารถทวงบัลลังก์ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในภูมิภาคมาได้ด้วยความสำเร็จจากการเปิดตัวสมาร์ตโฟนพรีเมียม S24 ที่ชูคุณสมบัติแบตอึดและความสามารถใหม่ด้าน AI
อย่างไรก็ตาม บรรดาคู่แข่งจากจีนมุ่งความสนใจมายังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยแย่งส่วนแบ่งในตลาดด้วยการนำเสนอสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ในราคาเอื้อมถึง โดยเสียวหมี่ (Xiaomi) ซึ่งเป็นแบรนด์ใหญ่อันดับ 2 เมื่อพิจารณาจากยอดจัดส่งในภูมิภาคในเดือนม.ค. มีการเติบโต 128% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่แบรนด์หน้าใหม่ในภูมิภาคอย่าง ทรานส์ชัน (Transsion) มีการเติบโตถึง 190%
นายลี ซวน เฉียว นักวิเคราะห์จากคานาลิส ระบุว่า “รายได้ที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาค อันเนื่องมาจากชนชั้นกลางและประชากรหนุ่มสาวเข้าสู่วัยทำงานมากขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่คาดว่าจะนำมาซึ่งการลงทุนที่มากขึ้นต่อไป”
เคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช (Counterpoint Research) รายงานเมื่อวันอังคาร (5 มี.ค.) ว่า ยอดจัดส่งสมาร์ตโฟนที่แข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สวนทางกับจีน ตลาดสมาร์ตโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมียอดขายสมาร์ตโฟนลดลง 7% ในช่วง 6 สัปดาห์แรกของปี 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี
รายงานระบุว่า หนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือแอปเปิ้ล (Apple) ซึ่งมียอดจัดส่งสมาร์ตโฟนในจีนร่วงลง 24% ในช่วง 6 สัปดาห์แรกของปี 2567 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของคู่แข่งอย่างหัวเว่ย (Huawei) รวมถึงยอดจัดส่งสมาร์ตโฟนที่มากกว่าปกติของแอปเปิ้ลในช่วงต้นปี 2566 อันเป็นผลมาจากการผลิตที่ล่าช้า
ในขณะที่การเติบโตของตลาดสมาร์ตโฟนจีนและสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลง แบรนด์ที่จำหน่ายสมาร์ตโฟนพรีเมียมอย่างแอปเปิ้ลและหัวเว่ยได้เริ่มหันเหความสนใจมายังตลาดเกิดใหม่อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสดใส
คานาลิสคาดการณ์ว่า ตลาดสมาร์ตโฟนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตราว 7% เมื่อเทียบเป็นรายปีในปี 2567 ซึ่งเป็นอัตราที่รวดเร็วกว่าตลาดทั่วโลกที่คาดว่าจะโตราว 3% ในขณะที่ตลาดจีนคาดว่าจะขยายตัว 1% และตลาดอเมริกาเหนือคาดว่าจะทรงตัว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แอปเปิ้ลได้เปิดแอปเปิ้ลสโตร์สาขาแรกในมาเลเซีย ขณะที่หัวเว่ยได้กระชับสัมพันธ์กับพันธมิตรหลายรายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เทลคอมเซล (Telkomsel) บริษัทโทรคมนาคมของอินโดนีเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้ คานาลิสยังเผยอีกว่า อินโดนีเซียยังคงเป็นตลาดสมาร์ตโฟนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาคือฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ตามลำดับ โดยเวียดนามเป็นประเทศเดียวที่มียอดจัดส่งสมาร์ตโฟนลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยขยับลง 2% ในเดือนม.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 67)
Tags: Canalys, จีน, ตลาดสมาร์ตโฟน, เงินลงทุน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้