นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนก.พ. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-29 ก.พ. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.00 เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.8 ในเดือนม.ค. 67
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
– กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.5
– ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.8
– ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 57.4
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.6
– ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.0
– ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.9
ปัจจัยบวก ได้แก่
– มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 67 เช่น มาตรการ Easy E-Receipt
– นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
– การยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยวให้กับบางประเทศ ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าครองชีพในการดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจ
– ภาคท่องเที่ยวและบริการภายในประเทศเริ่มดีขึ้น ผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่
– การส่งออกของไทยเดือน ม.ค. 67 ขยายตัว 10% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.6%
– SET Index เดือน ก.พ. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.15 จุด
– ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัว
– ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่
– คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% และปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 67 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.0%
– สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 67 เหลือโต 2.7-3.7%
– ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้ง ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่เกรงว่าอาจขยายวงกว้างทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งอาจจะยืดเยื้อที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมัน และพลังงานโลกยังทรงตัวสูง
– ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
– สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งในบางพื้นที่ และกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
– หนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ธุรกิจ SME และลูกหนี้ภาคเกษตร
– ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
– ความกังวลจากผลกระทบสภาวะเอลนีโญ จากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร
– ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับข้อเสนอแนะของหอการค้าไทย ได้แก่
– แนวทางมาตรการจัดการแก้ไขบริหารการใช้น้ำให้เหมาะสมต่อภาคการเกษตร และการบริโภคของประชาชน
– แนวทางขับเคลื่อนการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องให้กับภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจเอกชนให้เทียบเท่ากับนานาประเทศ
– มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ควรออกมาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
– มาตรการลดภาระต้นทุนทางด้านการเงิน และการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าพลังงาน อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
– การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้มีความสะดวกสบาย และเหมาะสมกับการขนส่ง ตลอดจนการเดินทางของนักท่องเที่ยว
– การจัดการดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศลักษณะที่ผิดกฎหมาย
– มาตรการจัดการปัญหายาเสพติดที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่เป็นมุมมองของภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับปกติ แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจมองว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว และดีขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือนติด
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย สะท้อนว่า ผู้ประกอบการยังกังวลเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และห่วงการบริโภคที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงไปตามเศรษฐกิจที่มีอาการซึม นอกจากนี้ ยังกังวลเรื่องต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะพลังงานที่ทรงตัวสูง สถานการณ์ภัยแล้ง
“ความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ทรุดตัวลงในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. 66 หรือช่วงสงครามอิสราเอลและฮามาส และดัชนีหลังจากนั้นยังไม่กลับไปทะลุดัชนีเดือนก.ย. 66 แสดงให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวจากสถานการณ์ฮามาสและอิสราเอล ประกอบกับงบประมาณแผ่นดินไม่ได้ถูกขับเคลื่อน สังเกตว่าสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/66 การคาดการณ์การใช้จ่ายของภาครัฐเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค กับการลงทุนของรัฐติดลบมากกว่าที่สภาพัฒน์คาดการณ์ตั้งแต่ พ.ค. ส.ค. และพ.ย. เนื่องจากตัวเลขจริงที่แถลงในเดือนก.พ. 67 เงินของรัฐติดลบมากกว่าที่คาดไว้ ทั้งๆ ที่ท่องเที่ยวดีขึ้น และส่งออกปรับตัวดีตั้งแต่ ส.ค. 66-ม.ค. 67 รวมถึงราคาสินค้าเกษตรดี ดังนั้น ภาพความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ไม่โดดเด่น เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวอ่อนๆ ภายใต้บรรยากาศของเงินเฟ้อติดลบ เศรษฐกิจฟื้นอ่อนแรง เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐไม่ถูกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 67)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่น, ท่องเที่ยว, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, วชิร คูณทวีเทพ, ส่งออก