จากกรณีจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท (DCC Fee) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย ผ่านรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด ชำระค่าสินค้าหรือบริการ ด้วยสกุลเงินบาทกับร้านค้า, ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และการกดเงินสดที่เลือกเป็นสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 นั้น
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เตรียมเรียกสถาบันการเงินเข้ามาชี้แจงว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการให้บริการในส่วนนี้อย่างไร โดยธปท.จะพิจารณาในหลักการว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าว มีการเรียกเก็บเท่าไหร่ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือใครก็ควรต้องรับต้นทุนในส่วนนี้ โดยพิจารณาเทียบเคียงที่มาที่ไปของต้นทุน และหากมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง ผู้คิดค่าบริการก็ต้องมีการประกาศให้ทราบว่าเป็นการเสียค่าใช้จ่ายอะไร ประชาชนก็ต้องไปเลือกใช้อย่างอื่นไม่ใช่ลักษณะบังคับต้องจ่าย
“เหมือนมีถนนหลายเส้น ถ้าเส้นลัดต้องมีจ่ายค่าผ่านทาง แต่ถ้าเราไม่อยากไปเส้นลัด ก็ไปเส้นยาวหน่อย ก็เสียเงิน แต่ไม่ใช่ปิดเส้นฟรี แล้วบังคับให้ไปใช้เส้นเสียเงิน ก็ไม่ถูก ควรเปิดข้อมูลให้เห็นทั้ง 2 ฝั่งแล้วให้ประชาชนเลือกเอง”
ส่วนกรณีเรียกเก็บในอัตรา 1% สูงไปหรือไม่นั้น นายสมชาย กล่าวว่า ยังไม่สามารถตัดสินได้ ธปท.ต้องรับฟังทั้ง 2 ด้าน ซึ่งกรณีนี้มี 3 ฝ่าย คือ 1.ผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ถูกเรียกเก็บ 2. สถาบันการเงินที่เป็นคนเก็บ และ 3.ตัวกลาง คือ วีซ่า/มาสเตอร์การ์ด
ที่ผ่านมา ธปท.ได้รับฟังจากผู้ใช้บริการแล้ว ก็ขอฟังทั้ง 2 ด้าน แต่เชื่อว่าการหารือจะจบได้ก่อน 1 พ.ค. ตอนนี้ยังพอมีเวลา ธปท.ก็ร้อนใจ และไม่ได้นิ่งนอนใจเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้
สำหรับผู้ให้บริการที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ที่ผู้ใช้งานต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เช่น Netflix, Facebook, Google, Airbnb, eBay, Spotify, Alibaba ,Viu, Agoda, , Apple, TikTok, PayPal เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 67)
Tags: ค่าธรรมเนียม, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., บัตรเครดิต, ร้านค้าออนไลน์, สกุลเงินต่างประเทศ, เงินบาท