ธปท.พร้อมเปิดกว้างไลเซนส์ Virtual Bank ไม่จำกัดเพียง 3 ราย แต่ต้องไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน

น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการพิจารณาใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า หลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank นั้น ธปท. จะพิจารณาคำขออนุญาตโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งในเบื้องต้นยังมองไว้ที่จำนวน 3 รายก่อน

แต่ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank ล่าสุดออกมา ธปท. ก็จะต้องไปพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ตามประกาศดังกล่าว โดยคำนึงถึงจำนวนที่เหมาะสม สามารถกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันได้อย่างพอดี และไม่ก่อความเสี่ยงต่อระบบการเงินของประเทศในอนาคต

สำหรับสิ่งสำคัญที่ ธปท.อยากเห็น (Green Line) จากการจัดตั้ง Virtual Bank คือ บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ หรือเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการทางการเงินที่มีอยู่เดิมผ่านช่องทางดิจิทัล โดยจะต้องมีบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อย และ SMEs กลุ่ม unserved/underserved, สร้างประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ดีแก่ลูกค้า รวมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม

“สิ่งที่เราต้องการเห็นจาก Virtual Bank คือ การให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ ที่แตกต่างไปจากธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี เพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า SME และรายย่อย และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ลงได้ เราคาดหวังให้เค้ามาทำประโยชน์ในสิ่งเหล่านี้ เพราะการที่ Virtual Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีต้นทุนเรื่องสาขา และบุคลากร ซึ่งในระยะยาว ก็จะทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป และสิ่งนี้ ก็น่าจะส่งผลไปยังลูกค้าธนาคารได้ต่อไป” น.ส.วิภาวิน ระบุ

ส่วนสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น (Red Line) คือ การประกอบธุรกิจที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฝากเงิน-ผู้ใช้บริการทางการเงินในวงกว้าง เช่น การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะหรือความมั่นคง, การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ทำให้เกิดการแข่งขันในระบบการเงินอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม

โดยคุณลักษณะสำคัญที่แสดงถึงศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank ได้อย่างยั่งยืน ควรประกอบด้วย 7 ด้านดังนี้

1.ความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้ตาม Green Line โดยไม่ให้เกิด Red Line

2.การเข้าถึง การบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย

3.ความสามารถในการประกอบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี และให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล

4.การใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

5.ความรู้ความสามารถและธรรมาภิบาลของผู้ขออนุญาต และผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ

6.ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงิน และ Risk Culture ที่ดี

7.ฐานะและการสนับสนุนทางการเงินของผู้ถือหุ้น

“กรณีการจะเข้ามาถือหุ้นของต่างชาติใน Virtual Bank นั้น เกณฑ์ปัจจุบันตั้งไว้ที่ 25% แต่ก็สามารถถือเกินกว่านั้นได้ ซึ่งได้ให้ไว้ไม่เกิน 49% แต่ทั้งนี้คงต้องดูองค์ประกอบ ตลอดจนคุณสมบัติอื่นๆ ของผู้ถือหุ้นด้วย หากจะมีการถือหุ้นเกินกว่าที่ตั้งไว้” น.ส.วิภาวิน ระบุ

น.ส.วิภาวิน กล่าวว่า ตัวอย่างการเปิด Virtual Bank ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น บราซิล จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งได้เข้ามาช่วยเสริมการให้บริการทางการเงิน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบปกติ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เช่น กลุ่มลูกค้ารายย่อย ลูกค้า SME แต่ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับว่ามีบางประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปิด Virtual Bank และต้องปิดตัวลง เช่น ออสเตรเลีย และอังกฤษ เนื่องจากมีการให้ใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank โดยไม่จำกัดจำนวน และมีผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเปิด Virtual Bank ได้อาจจะไม่มีความมั่นคงในด้านฐานะการเงิน ไม่มีแผนรองรับในการดูแลลูกค้าเมื่อธุรกิจประสบปัญหา

สิ่งเหล่านี้ ธปท.คำนึงถึงและให้ความสำคัญ จึงได้นำมากำหนดไว้ในการพิจารณาการขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในประเทศไทย ซึ่งผู้ยื่นขอใบอนุญาตจำเป็นต้องมี Exit Plan เพื่อเตรียมรองรับในการดูแลลูกค้า หากเกิดกรณีที่ไม่คาดคิด จนอาจถึงขั้นต้องปิดการให้บริการ

จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ Virtual Bank 19 มี.ค.

    ด้านนางสุจารี มนชน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงขั้นตอนการยื่นขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ว่า ธปท. ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามายื่นเอกสารการขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-19 ก.ย.67 รวมทั้งสิ้น 6 เดือน ซึ่งผู้ขออนุญาต จะต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้ช่องทางการยื่นคำขออนุญาต โดยต้องลงทะเบียนใช้งาน Digital Signature กับ TDID และลงทะเบียน BOT SecureNET กับ ธปท. เพื่อใช้ยื่นคำขอ และส่งเอกสารผ่านทางช่องทาง Microsoft Teams

    โดยผู้ขออนุญาต จะต้องส่งเอกสารตามขั้นตอนที่ ธปท.กำหนด ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาต ได้ที่เว็บไซต์ ธปท.

    ทั้งนี้ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอแล้ว จะเป็นขั้นตอนภายในของ ธปท.ในการพิจารณาเอกสาร และข้อมูลเพื่อคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน จากนั้นจะส่งให้กระทรวงการคลัง จะพิจารณารายชื่อตามที่ ธปท.เสนอ และประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank

    “คาดว่าประมาณกลางปีหน้า (ภายในมิ.ย.68) จะได้รู้ว่าใครจะได้จัดตั้ง Virtual Bank ซึ่ง ธปท.จะเสนอรายชื่อให้ รมว.คลัง ประกาศประมาณกลางปี 68 หรืออาจจะขยายเวลาออกไปได้ ถ้ามีความจำเป็น ซึ่งเป็นอำนาจของ รมว.คลัง แต่ต้องไม่เกิน 3 เดือน” นางสุจารี กล่าว

    โดยหลังจากการประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank แล้ว ผู้ได้รับอนุญาต จะต้องไปเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนยื่นขอรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank จากกระทรวงการคลัง และต้องเปิดให้บริการภายใน 1 ปี หลังจากได้รับใบอนุญาต แต่ทั้งนี้ หากมีเหตุที่ไม่สามารถทำได้เปิดได้ตามกำหนด ก็สามารถขอผ่อนผันเลื่อนเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี หรือไม่เกินไปจากกลางปี 70

    นางสุจารี ยังได้ประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมว่า ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ธปท. จะจัดประชุมชี้แจงให้กับผู้สนใจที่จะเข้ามายื่นขอใบอนุญาตเปิด Virtual Bank ซึ่งจะมีการชี้แจงหลักเกณฑ์ และให้ข้อมูลอย่างละเอียด โดย ธปท.ได้เปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้าแล้วจนถึงวันที่ 13 มี.ค.67 และสามารถส่งคำถามเข้ามาล่วงหน้าได้ผ่านทางเว็บไซต์ ธปท.

    ขณะเดียวกัน ธปท.จะจัดทำคู่มือประชาชน เพื่อให้รับทราบและทำความรู้จักกับ Virtual Bank ซึ่งคาดว่าจะจัดทำออกมาได้ในสัปดาห์หน้า

    โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 67)

    Tags: , , , , ,
    Back to Top