ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สูงสุดในรอบ 48 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนก.พ. 67 อยู่ที่ระดับ 63.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 48 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 63

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 57.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 60.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 73.2 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนก.พ. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย และอาจมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาคในอนาคต

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาอาจยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

“ปัจจัยลบ คือ ทุกคนเริ่มรับรู้จากการที่สภาพัฒน์ออกมายืนยันว่า เศรษฐกิจไทยจะโตแค่ 2.7% รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่ออกมาบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 2.7-2.8% ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นภาคประชาชนและธุรกิจหดหายลง เป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพูดว่าเป็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน แสดงว่าเป็นการเยียวยาที่ไม่ง่ายในระยะสั้น การฟื้นตัวในอนาคตจึงไม่สดใส ไม่ได้ทรุดตัวลง แต่นิ่งอยู่กับที่เพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การปรับตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวแบบอ่อนๆ เพราะความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการจ้างงานฟื้นตัวน้อย อย่างไรก็ดี ความหวังว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะพลิกฟื้นในไตรมาส 2/67 คือดัชนีการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีสุดในรอบ 164 เดือน หรือตั้งแต่ที่ทำการสำรวจมา (ก.ค. 48) แสดงให้เห็นว่าคนไทยพร้อมเที่ยว และบรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก โดดเด่น

ดังนั้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย ทั้งเทศกาลมหาสงกรานต์ 21 วัน หรือเทศกาลต่างๆ ในวันหยุดยาว จะหนุนภาวะเศรษฐกิจในภาคบริการ ซึ่งเป็นสัญญาณบวกของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเกี่ยวกับการซื้อบ้าน และรถยนต์ยังดีต่อเนื่อง เป็นสัญญาณของความพร้อมในการจับจ่ายใช้สอยที่บวกขึ้นตามลำดับ

 

เชื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้นในเดือนเม.ย. สงกรานต์-งบหนุน

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะถูกจุดติดในเดือนเม.ย. 67 เป็นต้นไป หลังจากงานมหาสงกรานต์ 21 วัน การท่องเที่ยวน่าจะคึกคักขึ้น ประกอบกับเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งสำนักงบประมาณคาดว่าจะลงในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. น่าจะทำให้เดือนเม.ย.-พ.ค. 67 หรือไตรมาส 2/67 เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มพลิกฟื้นขึ้น

“เชื่อว่าในไตรมาส 1/67 เศรษฐกิจน่าจะโต 2% และเม.ย. 67 ที่จะมีสงกรานต์ และงบประมาณ จะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/67 โตได้ 2.5-3% ดังนั้น หอการค้าไทยจะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในวันที่ 19 มี.ค. นี้ โดยตอนนี้ประเมินไว้ที่ 3.2% จะรอดูประเมินสถานการณ์อีกครั้ง” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ ปกติแล้วจะประเมินเงินสะพัดช่วงสงกรานต์อยู่ที่ประมาณ 130,000-140,000 ล้านบาท ในส่วนของปีนี้ยังไม่ได้ทำการประเมิน แต่ถ้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับมีงานมหาสงกรานต์ 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย. 67 เงินใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์อาจขยายตัวมากกว่าเดิม 5,000-10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากมองว่าจะเพิ่ม 50,000 ล้านบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการขยายตัวได้ประมาณ 0.2-0.3% อย่างไรก็ดี ต้องดูบรรยากาศของเศรษฐกิจโลก และบรรยากาศของการจัดงานสงกรานต์ด้วยว่าจะคึกคักมากน้อยเท่าไร

“บรรยากาศของนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 ล้านคน ถ้าเทียบกับปีก่อนเข้ามาเดือนละ 1-1.5 ล้านคน สะท้อนว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1-2 ล้านคนในช่วงสงกรานต์ ถ้าดูเฉพาะนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ถ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.5 ล้านคน นักท่องเที่ยวใช้เงินเฉลี่ยประมาณ 42,000 ล้านบาท เงินก็น่าจะสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท รวมกับนักท่องเที่ยวไทยที่ใช้เงินในช่วงสงกรานต์มากขึ้น 5,000-10,000 ล้านบาท ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอาจมีเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้น 50,000 ล้านบาท “นายธนวรรธน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top