เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า เรารู้สึกชื่นชมต่อการดำเนินการเชิงบวกของรัฐบาลไทยในการลดภาษีสำหรับสินค้าไวน์และสุราแช่ชุมชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตอย่างมาก และช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และการท่องเที่ยวสามารถนำเสนอสินค้าและบริการในราคาที่สามารถแข่งขันและเอื้อมถึงได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนสนับสนุนกลยุทธ์ของรัฐบาลในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของซอฟต์พาวเวอร์สาขาการท่องเที่ยวและสาขาอาหาร ซึ่งมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบสำคัญ รายรับภาษีที่ลดลงจากอัตราการจัดเก็บที่ลดลงจะถูกชดเชยในไม่ช้าด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของความต้องการไวน์และสุราแช่ชุมชน ตลอดจนขีดความสามารถและผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจในซัพพลายเช่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ”
“เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายของรัฐบาลในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายและระดับพรีเมียม คือ การทำ “กิโยตินกฎหมาย” เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและตอบสนองความคาดหวังของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังมองหาประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมียม อาทิ ปลดล็อคการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00 น. – 17.00 น. มาตรการโซนนิ่ง และมาตรการควบคุมการโฆษณา ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจคาดหวังว่าประเทศไทยจะมีนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความรับผิดชอบ ซึ่งผู้บริโภคมีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย (Harmful Use of Alcohol) และปรับเปลี่ยนทัศนคติสู่การดื่มอย่างรับผิดชอบ ‘ดื่มอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ดื่มมากขึ้น’ (Drink Better, Not More) ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวและอาหารโดยปี 2030 รัฐบาลไทยมุ่งมั่นในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศผ่านซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนสำคัญ ครั้งนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งโดยการกำหนดความสำคัญของหน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TAT) ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า “โซจูเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีและเชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำเช่นเดียวกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่นของเรา เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยแล้วรู้สึกไม่ประทับใจเมื่อพบว่าราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงหรือไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงบ่ายได้ ทำให้ภาพรวมของค็อกเทลในประเทศไทยมีราคาแพงกว่าในประเทศของพวกเขาอีก ข้อบังคับอีกข้อหนึ่งที่มีผลต่อโรงแรมคือการห้ามโฆษณาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้เราไม่สามารถประชาสัมพันธ์โปรโมชั่นที่เป็น Happy Hours ได้ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญของวิธีการสร้างรายได้ของกลุ่มโรงแรม”
รายงานการวิจัยโดย Oxford Economics ที่เปิดตัวในไทยชี้ว่า เครื่องดื่มไวน์และสุราต่างประเทศมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างมากในประเทศไทย โดยมีความต้องการไวน์และสุราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.9 พันล้านบาท) ใน GDP ปี 2022 โดยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.8 พันล้านบาท) จากปี 2021 ซึ่งเป็นที่สนับสนุนให้มีงานทำ 20,500 อัตราและสร้างรายได้จากภาษีเป็นจำนวนเงิน 292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10.0 พันล้านบาท) ในปี 2022
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 67)
Tags: ธุรกิจท่องเที่ยว, มาริสา สุโกศล หนุนภักดี, รัฐบาลไทย, อุตสาหกรรมอาหาร, เขมิกา รัตนกุล, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์