ธนาคารโลกเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (4 มี.ค.) ว่า การยกเลิกกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมซึ่งขัดขวางไม่ให้สตรีทำงานหรือเริ่มต้นธุรกิจนั้น อาจช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกได้มากกว่า 20% และจะเพิ่มอัตราการเติบโตของโลกเป็น 2 เท่าในทศวรรษหน้า
ทั้งนี้ การออกรายงานเรื่องสตรี, ธุรกิจ และกฎหมายประจำปีครั้งที่ 10 ของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงมีความคุ้มครองทางกฎหมายเพียง 64% ของความคุ้มครองที่ผู้ชายมี ซึ่งไม่ใช่ 77% ที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ และไม่มีประเทศใด แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด ที่ให้โอกาสที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
ความคุ้มครองทางกฎหมายที่ลดลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่สำคัญซึ่งรวมถึงปัจจัยใหม่ 2 ประการได้แก่ ความปลอดภัยและการดูแลบุตร ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยด้านค่าจ้าง, การแต่งงาน, ความเป็นพ่อแม่, สถานที่ทำงาน, ความคล่องตัว, ทรัพย์สิน, การเป็นผู้ประกอบการ และเงินบำเหน็จบำนาญ
รายงานดังกล่าวได้ทำการประเมินเป็นครั้งแรกว่า 190 ประเทศใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อปกป้องสตรีอย่างไร ซึ่งพบว่ามีความแตกต่างอย่างมากระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ
“ผู้หญิงมีพลังที่จะผลักดันเศรษฐกิจโลก” นายอินเดอร์มิต กิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิรูปเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัตินั้นได้ชะลอตัวลงอย่างมาก
รายงานระบุว่า อุปสรรคที่ผู้หญิงเผชิญในการเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วโลกได้แก่อุปสรรคในการเริ่มต้นธุรกิจ ความแตกต่างของค่าจ้างที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และการห้ามทำงานในเวลากลางคืน หรืองานที่ถือว่าเป็น “อันตราย”
ผู้หญิงแทบไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายที่จำเป็นในกรณีที่เกิดความรุนแรงในครอบครัว, การล่วงละเมิดทางเพศ, การแต่งงานของลูก และการสังหารสตรีใน 190 ประเทศที่ทำการศึกษา
การล่วงละเมิดทางเพศได้ถูกสั่งห้ามในสถานที่ทำงานใน 151 ประเทศ แต่มีเพียง 40 ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายห้ามการล่วงละเมิดในที่สาธารณะ
“เราจะคาดหวังได้อย่างไรว่าผู้หญิงจะประสบความสำเร็จในที่ทำงาน ในเมื่อการเดินทางไปทำงานเป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับพวกเธอ” นายกิลล์กล่าว
นอกจากนี้ ผู้หญิงยังใช้เวลาโดยเฉลี่ยมากกว่าผู้ชายราว 2.4 ชั่วโมงต่อวันในการทำงานด้านการดูแลโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดูแลบุตร โดยมีเพียง 78 ประเทศเท่านั้นที่กำหนดมาตรฐานคุณภาพเกี่ยวกับการบริการดูแลเด็ก
รายงานระบุว่า ผู้หญิงมีสิทธิประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ชาย แต่ประเทศต่าง ๆ ยังขาดระบบที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการและการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ตัวอย่างเช่น 98 ประเทศมีกฎหมายการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน แต่มีเพียง 35 ประเทศเท่านั้นที่มีมาตรการเพื่อความโปร่งใสในการจ่ายค่าจ้างหรือกลไกบังคับใช้เพื่อแก้ไขด้านช่องว่างของค่าจ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีรายได้เพียง 77 เซนต์ต่อทุก ๆ ดอลลาร์ที่ผู้ชายได้รับ
นอกจากนี้ รายงานของธนาคารโลกยังประกอบด้วยคำแนะนำเฉพาะสำหรับรัฐบาลต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย, การดูแลบุตร, โอกาสทางธุรกิจ, การปฏิรูปที่ยกเลิกข้อจำกัดในการทำงานของผู้หญิง, การขยายข้อกำหนดการลาคลอดบุตรสำหรับผู้เป็นแม่และพ่อ และการกำหนดโควตาที่มีผลผูกพันสำหรับผู้หญิงในคณะกรรมการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
วัยเกษียณของผู้หญิงที่เร็วกว่า แม้ว่าผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชายก็ตามนั้น ทำให้รายได้ของพวกเธอถูกจำกัดด้วยเช่นกัน
นายที ทรัมบิก ผู้เขียนหลักของรายงานดังกล่าวระบุว่า ผู้หญิงแทบไม่ถึงครึ่งมีส่วนร่วมในแรงงานทั่วโลก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชายเกือบ 3 ใน 4 มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 มี.ค. 67)
Tags: GDP โลก, ความเท่าเทียม, ธนาคารโลก