สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 ทั้งสถานการณ์แรงงาน ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ปัญหาสุขภาพ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นมากกว่าช่วงโควิด ว่างงานลดลง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 0.81% หรือมีผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน โดยลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน
ส่วนผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% โดยการจ้างงานในภาคเกษตร ขยายตัว 1.0% ส่วนการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 2.0% โดยสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขยายตัวสูงสุดที่ 8.0% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ภาพรวมปี 2566 อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.68% เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยผู้มีงานทำ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.8% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการจ้างงาน ทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและสาขาก่อสร้าง ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวม ปี 66 อยู่ที่ 0.98% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562
นายดนุชา กล่าวว่า การที่การจ้างงานกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว แต่ค่าจ้างแรงงานยังต่ำอยู่นั้น ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถของแรงงาน เช่น การ Upskill reskill เพื่อให้มีทักษะที่สูงขึ้น และได้รับค่าจ้างสูงขึ้น และต้องไปหารือกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“แรงงานไร้ฝืมือเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ ยังอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมที่ยังใช้แรงงานไร้ฝีมืออยู่ จึงต้องมีการเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง และในการผลิตต้องใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อนำแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญมาใช้ในการผลิต” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
ส่วนกรณีที่ไตรมาส 4/2566 พบว่าการจ้างงานในภาคการผลิต ลดลง 2.3% จะเป็นการสะท้อนถึงการผลิตในภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงหรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า หากพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกในปี 66 ก็ชะลอมาตัวตลอด แต่เพิ่งมาปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภายนอกด้วย รวมถึงภาคการผลิตมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาทดแทน จึงลดกำลังแรงงานคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้แรงงานภาคการผลิตปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
1) ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ซึ่งโครงสร้างการจ้างงานของอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2565 ยังเน้นแรงงานไม่มีฝีมือ มีสัดส่วนถึง 43.6% เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560 อีกทั้งสถานประกอบการจำนวนมาก ต้องการเพียงแรงงานทักษะพื้นฐาน
2) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. โดยระดับดังกล่าวมีผู้สมัครงานต่ำกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 และ 7.1 เท่า ตามลำดับ
3) การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ AI ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยควรมีการ upskill/reskil ด้าน AI แรงงานในตลาด ผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้อง
หนี้ครัวเรือน Q3/2566 ชะลอ เว้นสินเชื่อส่วนบุคคลเร่งขึ้น จับตาสัญญาณ NPL
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในไตรมาส 3/2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% ทรงตัวจากไตรมาส 2/2566 โดยครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล
ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ โดย NPL มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเป็น 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นว่า เป็นเรื่องสภาพคล่องของแต่ละบุคคล เนื่องจากที่มาของรายได้และอาชีพแต่ละคนไม่เหมือนกัน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน การให้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นเรื่องง่ายและเร็ว จึงต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับความสามารถในการจ่ายหนี้ด้วย ก่อนเข้าถึงสินเชื่อ เพราะถ้าให้ปล่อยให้เกิดความง่ายในการเข้าถึงสินเชื่อ จะทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้เสียในกลุ่มยานยนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
“ต้องมาพิจารณาว่า ถ้าธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณแล้ว ก็อาจต้องมาปรับโครงสร้างหนี้ก่อน เพื่อทำให้มีสภาพคล่องมากขึ้น แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับภาวะ และพฤติกรรมแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน” นายดนุชา ระบุ
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง เสนอผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value : LTV) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายดนุชา กล่าวว่า มาตรการ LTV เปรียบเหมือนเหรียญสองด้าน ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ว่าการผ่อนคลายมาตรการนี้ จะส่งผลให้เกิดการก่อหนี้มากขึ้น และทำให้เกิดหนี้เสียมากขึ้นหรือไม่ แต่ยอมรับว่า มาตรการ LTV ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายในภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
“เรื่องนี้ต้องดูในรายละเอียด เพราะตอนนี้พยายามทำให้คนคิดก่อนก่อหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำหนี้ครัวเรือนลดลงได้ เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงมาก ต้องพยายามทำให้ลดลงก่อน ซึ่งต้องมาพิจารณาดูว่า ควรจะออกมาในช่วงเวลาไหน” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
1) การติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน อีกทั้งต้องติดตามการเข้ารับความช่วยเหลือของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง
2) การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่สะท้อนการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
3) การติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ และอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ ควบคู่กับการติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อหนี้นอกระบบได้ในอนาคต
ปี 66 นักดื่ม-สิงห์อมควันเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของการบริโภค
นายดนุชา กล่าวว่า ไตรมาส 4/2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพิ่มขึ้น 2.8% โดยการบริโภคเครื่องดื่ม
แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 4.9% ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลง 0.7% สำหรับภาพรวมปี 2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของการบริโภค และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ที่อาจดึงดูดให้มีการเปิดสถานบันเทิงเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้นักดื่มมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการสูบบุหรี่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มี.ค. 67)
Tags: NPL, ดนุชา พิชยนันท์, บุหรี่, สภาพัฒน์, สศช., หนี้ครัวเรือน, แอลกอฮอล์