กระทรวงพาณิชย์ เผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ภายใต้ระบบ GSP ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ปี 2566 มีมูลค่าเกือบ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดสหรัฐฯ ครองอันดับ 1 สำหรับการใช้สิทธิ GSP ตลอดปี 2566 ขณะที่สินค้าส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP สูงสุด
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออก ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 3,429.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 54.94 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ และในปี 2566 ตลาดสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดอันดับหนึ่งที่ไทยมีการใช้สิทธิ GSP ส่งออกมากที่สุด โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 3,102.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 90.49 % ของมูลค่าการส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด
สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ภายใต้สิทธิฯ 5 อันดับแรก คือ 1. ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ 2. กรดมะนาวหรือกรดซิทริก 3. กระเป๋าใส่เสื้อผ้า 4. อาหารปรุงแต่ง และ 5. ถุงมือยาง และจากการติดตามสถิติการใช้สิทธิโครงการ GSP ของสหรัฐฯ มีสินค้าตัวท็อปที่มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิฯ สูงที่สุดอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566 คือ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ มูลค่า 450.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยได้รับสิทธิ GSP จาก 4 ประเทศ/กลุ่มประเทศ นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิ GSP เพื่อส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งประกอบด้วย ยูเครน อาเซอร์ไบจาน ทาจิกิสถาน มอลโดวา อุซเบกิสถาน จอร์เจีย และเติร์กเมนิสถาน อีกด้วย
โดยสำหรับโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2566 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 307.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 3 โครงการ GSP ของนอร์เวย์ มูลค่า 13.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับสุดท้ายเป็นโครงการ GSP ของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) มูลค่า 4.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ สายนาฬิกาทำด้วยโลหะสามัญ (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) และสับปะรดกระป๋อง (CIS) เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2566 ภาพรวมการใช้สิทธิ GSP ตลอดทั้งปี 2566 ลดลงจากปี 2565 จาก 3,697.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 3,429.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และนโยบายทางการค้าของหลายประเทศที่เน้นส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้สิทธิฯ พบว่าในปี 2566 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้น คิดเป็น 54.94 % จากปี 2565 แสดงให้เห็นว่าสินค้าส่งออกของไทย ยังคงสามารถรักษาตลาดในประเทศที่ให้โครงการ GSP อยู่ได้ และผู้ประกอบการไทยเห็นความสำคัญของการใช้สิทธิ GSP ที่มีส่วนช่วยในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้สินค้าส่งออกไทย
นายรณรงค์ กล่าวว่า สำหรับในปี 2567 คาดว่าสินค้าส่งออกของไทยจ ยังคงครองตลาดในประเทศที่ให้สิทธิ GSP ทั้ง 4 ประเทศ/กลุ่มประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ GSP ของสหรัฐฯ ที่น่าจะมีการใช้สิทธิฯ ที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากความชัดเจนของนโยบายการต่ออายุโครงการ GSP โดยมีสินค้าดาวเด่นที่น่าจับตามอง คือ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ที่คาดว่าไทยจะครองอันดับ 1 ของประเทศผู้ส่งออกภายใต้โครงการ GSP ได้อย่างต่อเนื่อง
“กรมการค้าต่างประเทศ ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกไทย ใช้สิทธิพิเศษ GSP เหล่านี้ เพราะจะทำให้มีแต้มต่อทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ GSP ของสหรัฐฯ ที่หากใช้สิทธิ GSP สินค้าจะได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ มากขึ้น” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว
พร้อมขอให้จับตามองความคืบหน้าของการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA (ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ที่จะมาทดแทนโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งจะถือเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทย ที่จะได้รับสิทธิในการลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าได้อย่างถาวร แตกต่างจากโครงการสิทธิพิเศษ GSP ที่เป็นการให้สิทธิพิเศษฝ่ายเดียว ประเทศผู้ให้สิทธิฯ จึงสามารถยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้สิทธิฯ ได้ตามนโยบายของแต่ละประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 67)
Tags: GSP, รณรงค์ พูลพิพัฒน์, ส่งออก, สหรัฐ, เศรษฐกิจไทย