“สุริยะ-AOT” รับลูกเร่งยกระดับบริการ-ขยายขีดความสามารถ ตามวิสัยทัศน์และไทม์ไลน์ฮับการบิน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในต้นเดือนเม.ย. 67 ทางสกายแทร็กซ์ (Skytrax) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับสนามบินและสายการบินทั่วโลก จะเดินทางมาประเทศไทย ซึ่งตนจะถือโอกาสไปพบปะ และรับฟังข้อมูล เกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ที่สกายแทร็กซ์ใช้ในการสำรวจ และจัดอันดับสนามบิน จากนั้นจะนำหัวข้อเหล่านี้ไปพิจารณาแก้ไข ยกระดับบริการ

สำหรับแผนการพัฒนาขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคน/ปี นั้น จะมุ่งพัฒนาตามแผนแม่บทเดิม โดยเร่งโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion) พร้อมกับมุ่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) โดยตั้งใจจะให้มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ ซึ่งจะไม่มีอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ที่เคยมีแนวคิดที่จะเพิ่มเติมจากแผนแม่บท

นายสุริยะ ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการเพื่อให้ เป็นไปตามวิสัยทัศน์และไทม์ไลน์ที่นายกฯวางไว้ให้ได้ และเชื่อมั่น 100% ว่า จะสามารถปรับปรุงพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้กลับมามีบริการที่ดีได้ตามนโยบายของนายกฯ แน่นอน

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า เป้าหมายในการทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็น 1 ใน 50 อันดับของโลกภายใน 1 ปี จะต้องมีการปรับปรุงบริการต่างๆ ต้องมีมาตรฐาน เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้โดยสารประทับใจและ ความสะดวกสบาย ที่จะส่งผลต่อการจัดอันดับ

ทอท.จะดูแลทุกกระบวนการ ทั้งเช็คอิน ตรวจค้นและตรวจหนังสือเดินทาง รวมไปถึงพื้นที่และห้องพักคอยต่างๆ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) จะเพิ่มเจ้าหน้าที่ 600 นาย และช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Auto Channel ) 80 ช่อง เพื่อลดระยะเวลาคอย และทอท.จัดหากำลัง 800 อัตราเข้ามาเสริมในกระบวนการตรวจค้นและการแนะนำผู้โดยสาร

ส่วนการจะเป็น 1 ใน 20 อันดับภายใน 5 ปี หรือ ภายในปี 2571 จะมีการพัฒนาขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้เร่งรัดการลงทุน ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีความพร้อมจะเปิดประกวดราคาในเดือนมิ.ย. 2567 จะเพิ่มพื้นที่ อีก 100,000 ตร.ม. จากเดิม 450,000 ตร.ม. จะเป็น 550,000 ตร.ม. และส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันตก จะเพิ่มพื้นที่อีก 100,000 ตร.ม. รวมเป็น 650,000 ตร.ม. รวม 2 โครงการจะเพิ่มพื้นที่อีก 30% และขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 30 ล้านคน/ปี รวมถึง อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ขีดความสามารถรวม 90 ล้านคน/ปี

แผนระยะยาวในการก่อสร้าง อาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทเดิม มีศักยภาพในการเพิ่มการเดินทางเข้าท่าอากาศยาน ด้านทิศใต้ จากถนนถนนบางนา-ตราด รองรับรถได้เพิ่มอีกเท่าตัว รวมไปมีความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เท่ากับ อาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) ซึ่งจะทำให้สุวรรณภูมิรองรับได้เป็น 150 ล้านคน/ปี และทำให้สุวรรณภูมิใหญ่เป็นอันดับ ที่ 5 ของโลก

นายกีรติ กล่าวว่า ทอท.จะมีการศึกษาทบทวนแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใหม่ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนหรือภายในเดือนพ.ย. 2567 ภาพรวมการพัฒนาจะนิ่งและชัดเจน เพื่อนำไปสู่การออกแบบรายละเอียดอีกประมาณ 15 เดือน และคาดว่าปลายปี 2568 ไม่เกินต้นปี 2569 จะเปิดประมูล อาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการได้ในปี 2572-2573

“ใน2567 ปีนี้ จะประมูล ส่วนต่อขยายด้านตะวันออกก่อน ส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันตกและอาคาร SAT-2 รวมถึง อาคารด้านทิศใต้ จะรอทบทวนแผนแม่บทเสร็จก่อน เพราะจะเห็นไทม์ไลน์ในการดำเนินการในแต่ละอาคาร โดยหลักการ อาคารด้านตะวันตก อาคาร SAT-2 กับอาคารด้านใต้ จะประมูลและก่อสร้างในเวลาที่สอดคล้องสัมพันธ์กัน”

ส่วนอาคารด้านทิศเหนือนั้น ตอนนี้ยังไม่ปิดประตูทางเลือกไหน เพราะมีข้อดีในระยะสั้นแต่มีข้อจำกัด ไม่ตอบโจทย์ในการเพิ่มขีดความสามารถสุวรรณภูมิไปที่ 150 ล้านคน/ปี ไม่สอดรับนโยบายฮับการบินของรัฐบาล เพราะอาคารทิศเหนือรองรับได้ 30 ล้านคน/ปี ซึ่งยังไม่เพียงพอและ ต้องไปขยายอาคารทิศใต้อยู่ดี เป็นการลงทุนซ้ำซ้อน ส่วนจุดก่อสร้างอาคารด้านเหนือนั้น ถือว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพ เพราะติดถนนและพื้นที่ Air Side ซึ่งทอท.จะพิจารณาในการทบทวนแผนแม่บทถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว เพื่อตอบสนองนโยบาย เช่น การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และท่าอากาศยานสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet) หรือ คลังสินค้า (Cargo) หรืออาจจะใช้เป็นอาคารรับผู้โดยสารในประเทศได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top