เอกชนห่วงสินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพบุกตลาดไทย ฉุดยอดขาย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 38 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ภายใต้หัวข้อ “สินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพบุกตลาดไทย ภาคอุตสาหกรรมรับมืออย่างไร”

จากความเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท. พบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกและสินค้าไม่มีมาตรฐานที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย มากถึง 65.8% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด ส่งผลกระทบทำให้
ยอดขายสินค้าของไทยลดลงตั้งแต่ 10% จนถึง มากกว่า 30% ในบางอุตสาหกรรม

ประเด็นดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศ เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับสินค้าราคาถูกที่เข้ามาในประเทศได้ รวมทั้งมีความกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคในการเลือกใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องสำอาง สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากผลกระทบดังกล่าว ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานและใช้การสำแดงเท็จนำเข้าผ่านด่านศุลกากร ควบคู่ไปกับการตรวจสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาดทั้ง มอก. และ อย. รวมทั้ง จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาผ่านช่องทางออนไลน์ E Commerce platform โดยการพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท และออกมาตรการป้องกันการสำแดงราคาเท็จ ตลอดจนทบทวนเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Zone Warehouse) เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมในการขายสินค้าในประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงสถานการณ์การแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอาเซียน ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มองว่า ต้นทุนการผลิตของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นมากทั้งจากค่าไฟฟ้า ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และ
ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ทำให้สินค้าไทยในปัจจุบันเริ่มที่จะแข่งขันได้ยากยิ่งขึ้นในตลาดอาเซียน ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าไปอาเซียน ปี 2566 ที่ลดลงกว่า 7.12% เมื่อเทียบกับปี 2565

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 234 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 38 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้

*ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกและไม่มีมาตรฐานที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยระดับใด
20.9% : ยอดขายลดลง 10%
19.7% : ยอดขายลดลง 20%
17.9% : ยอดขายลดลง มากกว่า 30%
7.3% : ยอดขายลดลง 30%
34.2% : ไม่ได้รับผลกระทบ

*ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อผลกระทบจากสินค้าราคาถูกและไม่มีมาตรฐานในเรื่องใด (Multiple choices)
81.2% : อุตสาหกรรมภายในประเทศสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้
74.4% : ความปลอดภัยของผู้บริโภคในการเลือกใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐาน
44.0% : การจัดการขยะที่มาจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า
42.3% : การลักลอบนำเข้าสินค้ามาสวมสิทธิของไทยในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

*ภาคอุตสาหกรรรมีแนวทางการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับสินค้าราคาถูกที่เข้ามาในตลาดอย่างไร (Multiple choices)
65.8% : ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้รับรองมาตรฐาน เช่น มอก., อย.
58.1% : สร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับ และพัฒนาบริการหลังการขาย
49.1% : พัฒนากระบวนการผลิตและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์กระแสผู้บริโภค
46.6% : ปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อเจาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ

*ภาครัฐควรมีมาตรการปกป้องผู้ประกอบการไทยจากสินค้าราคาถูกและไม่มีมาตรฐานอย่างไร (Multiple choices)
78.2% : เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าไม่มีมาตรฐานและสำแดงเท็จ ที่มีการนำเข้าผ่านด่านศุลกากร และการตรวจสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ในท้องตลาดทั้ง มอก. และ อย.
66.2% : ทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ ที่ไม่เกิน 1,500 บาท และออกมาตรการป้องกันการสำแดงราคาเท็จ
54.7% : ทบทวนเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Zone Warehouse) ในกรณีขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
48.3% : การนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด(Anti-Circumvention: AC) มาบังคับใช้

*กลุ่มสินค้าใดที่ภาครัฐควรเร่งเข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบจากสินค้าราคาถูกและไม่มีมาตรฐาน (Multiple choices)
70.1% : เครื่องใช้ไฟฟ้า
55.6% : อาหาร และเครื่องสำอาง
49.6% : สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าแฟชั่น
42.7% : วัสดุก่อสร้าง
30.3% : เครื่องจักรกล

*ภาคอุตสาหกรรมมีมุมมองต่อการแข่งขันกับสินค้าที่ทะลักเข้ามาในตลาดอาเซียนอย่างไร
57.7% : สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก เนื่องจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง
31.2% : สินค้าไทยถูกแยกส่วนแบ่งทางการตลาดบางส่วน แต่ยังสามารถรักษาตลาดไว้ได้
11.1% : สินค้าไทยยังคงเป็นที่นิยมและสามารถแข่งขันได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top