SABUY รื้อโครงสร้างใหญ่หั่นทิ้งธุรกิจขาดทุน-ลดค่าใช้จ่าย จ่อยื่นไฟลิ่ง “นครหลวง แคปปิตอล”

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) กล่าวถึงทิศทางธุรกิจในปี 67 ว่าการดำเนินงานน่าจะโตต่อ แต่จะปรับกลยุทธ์ในการดำเนินการมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมั่นคง โดยเลือกเก็บธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไร และตัดธุรกิจที่ไม่สร้างกำไรออกทั้งหมด เพื่อคงรายได้ให้เติบโตสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะสร้างกำไรตลอดทั้งปี และเป็นกำไรที่เกิดจากการดำเนินงาน

SABUY แจ้งผลประกอบการปี 66 พลิกเป็นขาดทุน 189 ล้านบาท จากปี 65 มีกำไร 1.48 พันล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% แบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการ 2.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากธุรกิจ SPEED, SABUY Alliance, BzB,

iSoftel และ Marketing Oops ในขณะที่ธุรกิจเดิมเช่น ตู้เติมเงินค่อนข้างตึงตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้ตู้เติมเงินจะมาจาก banking agent เพิ่มขึ้นท ให้รายได้ที่ SABUY Money เพิ่มขึ้นพอควร

รายได้จากการขายอยู่ที่ 6.2 พันล้าน เพิ่มขึ้น 131% จากธุรกิจ SBNEXT, VDP, SABUY Market & Food, บัตรพลาสติค (PTECH), BzB, LOVLS ส่วนรายได้จากการให้บริการตามสัญญาและดอกเบี้ยรับอยู่ที่ 577ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% โดยหลักจากธุรกิจ LOVLS ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และ SBNEXT ที่เพิ่มขึ้นถึง 3เท่าตัว ในขณะที่ SBT ลดลงเล็กน้อย

กำไรขั้นต้นรวมสำหรับปี 66 เท่ากับ 2.4พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ 25.6% ลดลงจากปีก่อนที่ 27.7% จากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นตลอดจนการแข่งขันอย่างรุนแรงและธุรกิจขนส่งส่งผลให้ margin ในส่วนของธุรกิจ SPEED ลดลงประมาณ 1% ประกอบการการเพิ่มยอดขายจากธุรกิจ wholesale ผ่าน SABUY Market และ SABUY Food Plus ที่มี margin ค่อนข้างต่ำ

ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมสำหรับไตรมาส 4/66 เท่ากับ 1.1 พันล้านยาท เพิ่มขึ้น 128% จากไตรมาส 3/66 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทั้งปีอยู่ที่ 2.7พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 131% จากปีก่อน

นายชูเกียรติ กล่าวว่า จากการที่ไทยประสบเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ที่ส่งผลต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคระดับย่อย และเป็นความต่อเนื่องจากครึ่งปีหลังของปี 66 กลุ่มบริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ลดค่าใช้จ่ายและลดความซ้ำซ้อน โดยตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายพนักงานลงไปได้ประมาณ 200-250 ล้านบาท ในปี 67 เช่น ค่าบุคลากร อาคารสถานที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 35 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างบริษัท โดยมุ่งเน้นธุรกิจหลัก 5 ตัวในกลุ่ม Enterprise กับ Cunsumer ได้แก่ SABUY, SBNEXT, PTECH และ SABUY SPEED (กลุ่มธุรกิจ Drop off) ซึ่งคาดว่าการปรับโครงสร้างเสร็จใน ไตรมาส 2/67 และเดินหน้าปรับโครงสร้างกลุ่ม Digital ต่อ โดย Asphere จะเป็นธุรกิจหลักในกลุ่มนี้

ขณะที่แผนการนำ บมจ.นครหลวง แคปปิตอล (NCAP) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังดำเนินการตามแผนเดิม โดยได้ตั้งที่ปรึกษาทางการเงินเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Audit) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน โดยเป้าหมายอยากดำเนินการยื่นไฟลิ่งให้ทันปีนี้ตามกำหนดการเดิม

อย่างไรก็ตามต้องติดตามสภาวะของตลาดทุนด้วย ประกอบกับติดตามาตรการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่จะยกระดับเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน แต่เป้าหมายในการนำเข้าระดมทุนยังไม่เปลี่ยนแปลง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top