กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน” ฉบับที่ 2 (46/2567) (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2567) โดยระบุว่า บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกัน และระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร และอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวัน-เวลาดังกล่าวไว้ด้วย
โดยจะมีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1-3 มีนาคม 2567 ดังนี้
วันที่ 1 มีนาคม 2567
- ภาคเหนือ: จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ และนครราชสีมา
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 2 มีนาคม 2567
- ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
วันที่ 3 มีนาคม 2567
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา
- ภาคกลาง: จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 67)
Tags: กรมอุตุนิยมวิทยา, ฝนตก, พยากรณ์อากาศ, พายุฤดูร้อน, ลูกเห็บ