ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย ม.ค.ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังขยายตัวช้า แรงส่งหลักจากภาคท่องเที่ยว

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.67 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (ธ.ค.66) แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการ ยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน

ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง โดยการจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

โฆษก ธปท. กล่าวในรายละเอียดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเดือนม.ค.67 ขยายตัวได้ 7.2% แต่หากไม่รวมทองคำ จะขยายตัวได้ 5.7% โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะ 1) สินค้าเกษตร 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ 3) ผลิตภัณฑ์เคมีและเคมีภัณฑ์

  • สำหรับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนน้อยลง โดยการผลิตหมวดยานยนต์หดตัว แต่ปรับดีขึ้นบ้างจากการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งมอบ ประกอบกับหมวดปิโตรเลียมหดตัวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การผลิตในบางหมวดขยายตัวจากปีก่อน อาทิ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดยางและพลาสติก
  • เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น จากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานเป็นสำคัญ สะท้อนความต้องการลงทุนที่มีอยู่ต่อเนื่อง
  • มูลค่าการนำเข้าสินค้าเดือนม.ค.67 ไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ลดลง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติทั้งจากด้านปริมาณและราคา และสินค้าอุปโภคบริโภคตามการนำเข้าสินค้าเวชภัณฑ์ รวมถึงผักผลไม้และรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน
  • เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทนในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐทั้งการอุดหนุนราคาพลังงานและการลดหย่อนภาษี ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในเดือนม.ค.67 อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวลาว ยุโรปไม่รวมรัสเซีย และอินเดีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ จีนและมาเลเซีย ชะลอลงบ้าง ส่วนหนึ่งเพื่อรอเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่รายรับภาคการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนวันพักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวต่อนักท่องเที่ยวระยะสั้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลตามดุลการค้า แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล
  • การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และจากรายจ่ายประจำที่หดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าปีก่อน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน
  • ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนม.ค.67 ลดลง -1.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสด จากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับราคาไข่ไก่ และข้าว ที่ปรับลดลง ด้านหมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.52% ลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน แม้ราคาในหมวดอาหารสำเร็จรูป และหมวดเครื่องใช้ส่วนตัวยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
  • ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง โดยการจ้างงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวดีขึ้นได้ต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าจะช่วยผ่อนคลายปัญหาการจ้างงานในภาคการผลิตลงได้ ขณะที่การจ้างงานในสาขาก่อสร้างที่ลดลงนั้น คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าของภาครัฐ ทำให้การลงทุนในโครงการต่างๆ ชะลอออกไป แต่หากงบประมาณสามารถกลับมาเบิกจ่ายได้ตามปกติ คาดว่าการจ้างงานในภาคก่อสร้างก็จะเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนที่เริ่มกลับมา
  • ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ในเดือนม.ค.67 เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ช้าออกไป หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่เงินบาทในเดือนก.พ.ยังคงผันผวน และอ่อนค่าต่อจากเดือนม.ค. เนื่องจากท่าทีที่จะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2566 และการประเมินแนวโน้มปี 67 จากการแถลงล่าสุดของสภาพัฒน์ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่าปัจจัยนี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจในการทำนโยบายการเงินระยะต่อไป
*แนวโน้มก.พ. ยังได้แรงส่งบริโภค-ท่องเที่ยว จับตาส่งออก

น.ส.ชญาวดี กล่าวด้วยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.67 คาดว่าจะยังได้รับแรงส่งจากการบริโภคและการท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในระยะต่อไป มีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ 1.การฟื้นตัวของการค้าโลก 2. ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ 3. การจ้างงาน และ 4. นโยบายของภาครัฐ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.พ. 67)

Tags: , ,
Back to Top