LHFG พุ่งสู่เป้าขึ้นชั้นแบงก์ขนาดกลาง ขยายฐาน SME หนุนสินเชื่อปีนี้โต 8-10% ตรึง NIM 2.5-2.6%

นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อในปี 67 เติบโต 8-10% จากการเดินหน้าขยายสินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยที่จะรักษาระดับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 2.5-2.6% ใกล้เคียงกับปีก่อน และจะควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ต่ำกว่า 3% จากปีก่อนที่ 2.7%

ธนาคารมีแผนการเดินหน้าขยายฐานลูกค้าต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขยับขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลาง จากปัจจุบันที่เป็นธนาคารขนาดเล็ก โดยการขับเคลื่อนการเติบโตศักยภาพของธนาคารเพื่อพัฒนาบริการมอบให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งยังไม่มีแผนการมองหาซื้อธนาคารในประเทศเข้ามาเพื่อขยายการเติบโต

สำหรับการดำเนินงานในปี 67 ยังคงเดินตามแผนเชิงกลยุทธ์และขับเคลื่อนการเติบโตผ่านการขยายฐานลูกค้าทั้งลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีผ่านช่องทางดิจิทัล พันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนรูปแบบการทำงานและกระบวนใหม่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยธนาคารมุ่งในการเติบโตพอร์ตสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ซึ่งจะมีการขยายฐานลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีให้มีพอร์ตเพิ่มเป็น 30-35% ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 29%

การเพิ่มฐานลูกค้าเอสเอ็มจะมีการทำ Program Lending & Package Solution ที่ออกแบบสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมปรับกระบวนการทำงานเพื่อพิจารณาสินเชื่อให้รวดเร็วขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบริการและความรู้ของเจ้าหน้าที่ การให้คำปรึกษาทางการเงินและทางธุรกิจกับเอสเอ็มอีเพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ขณะเดียวกันธนาคารจะเดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ Refinance โดยตั้งเป้าการเติบโตในระดับ 20% รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ Wealth ผลิตภัณฑ์เงินฝาก ผลิตภัณฑ์การลงทุน ผลิตภัณฑ์ประกันที่ออกแบบพิเศษสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม

ธนาคารจะยกระดับบริการทางการเงินผ่าน Digital Platform การพัฒนาแอปพลิเคชัน LHB You และ Profita อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินและการลงทุนอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยการที่ผลักดันให้บริการผ่านดิจิทัลจะทำให้ต้นทุนการให้บริการของธนาคารลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.พ. 67)

Tags: , ,
Back to Top