บริษัทสตาร์ตอัปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างหันมาเพิ่มเงินเดือนเพื่อดึงดูดพนักงานใหม่ในฝ่ายขายและฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โดยบางแห่งให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นมากถึง 20% แซงหน้าสายงานอื่น ๆ อย่างวิศวกร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการหาเงินเข้าบริษัท
รายงานจากกลินต์ส (Glints) แพลตฟอร์มว่าจ้างบุคลากรในสิงคโปร์ และธุรกิจร่วมทุน มังค์ส ฮิลล์ เวนเจอร์ส (Monk’s Hill Ventures) ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (29 ก.พ.) ระบุว่า เงินเดือนโดยเฉลี่ยของพนักงานฝ่ายพัฒนาธุรกิจและฝ่ายขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินเดือนวิศวกร พนักงานฝ่ายการตลาด ฝ่ายข้อมูล และฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
รายงานดังกล่าวได้วิเคราะห์ข้อมูลจากประกาศหางานที่มีผู้โพสต์ลงแพลตฟอร์มกลินต์ส โดยเป็นตำแหน่งงานของบริษัทสตาร์ตอัปในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม รวมถึงข้อมูลจากการสัมภาษณ์บริษัทสตาร์ตอัปกว่า 70 แห่งทั่วภูมิภาค
โดยทั่วไปแล้ววิศวกรเป็นงานที่ได้เงินเดือนสูง แต่เงินเดือนวิศวกรในการสำรวจนี้กลับปรับตัวลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับสายงานอื่น ๆ โดยได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทหลายแห่งเลย์ออฟบุคลากรสายเทคโนโลยี ส่งผลให้เงินเดือนวิศวกรลดลงเพราะมีวิศวกรหางานในตลาดเป็นจำนวนมากขึ้น โดยเงินเดือนวิศวกรลดลง 2% ในปี 2566 และเงินเดือนวิศวกรที่มีอายุงานน้อยปรับตัวลดลงหนักสุดถึง 6%
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แวดวงสตาร์ตอัปต้องการพนักงานที่ช่วยหาเงินเข้าบริษัทมากขึ้น โดยสตาร์ตอัปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หาเงินทุนได้ 7.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ซึ่งลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณการทำข้อตกลงก็ลดลงถึง 30%
เชอริล หลิว หัวหน้าฝ่ายบุคลากรของมังค์ส ฮิลล์ เวนเจอร์ส ระบุในรายงานว่า “สตาร์ตอัปจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาด และมีเส้นทางชัดเจนในการทำกำไร โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.พ. 67)
Tags: พนักงาน, พนักงานบริษัท, สตาร์ตอัป, อาเซียน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้