นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ตลาดการเงินโลกเดือนที่ผ่านมา ผันผวนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ โดยเศรษฐกิจโลกขยายตัวแข็งแกร่งกว่าคาด นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ตัวเลขในตลาดแรงงาน และการบริโภคเอกขนขยายตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้อลดลงช้ากว่าคาด
ด้านเศรษฐกิจยุโรป ก็ฟื้นตัวดีกว่าคาด นำโดยเศรษฐกิจฝรั่งเศสที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ สำหรับเศรษฐกิจจีน แม้จะยังอ่อนแอ แต่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนที่มีออกมาต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีออกมาเพิ่ม จึงทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดทุนปรับเพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากดูที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทย พบว่าออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด โดย GDP ไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 1.7%YOY ต่ำกว่าตลาดคาด จากการลงทุนและบริโภคภาครัฐที่หดตัว ตามความล่าช้าของการประกาศ พ.ร.บ. งบประมาณปี 67 อีกทั้งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นมากนัก และภาคการก่อสร้างยังหดตัวสูง ในระยะต่อไปคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 จะขยายตัวดีขึ้น แต่ปัจจัยโครงสร้างที่อ่อนแอ จะยังเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้
สำหรับตลาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) พบว่า Yields ในเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเร็ว หลังตลาดปรับมุมมองการลดดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ลงจาก 6 ครั้ง เหลือเพียง 3 ครั้ง ซึ่งในระยะสั้น มองว่าแรงกดดันด้านสูงต่อ Yields จะยังมีอยู่ โดยคาดว่าเงินเฟ้อ PCE ที่จะออกในช่วงปลายเดือนนี้ มีโอกาสออกมาสูงตามราคาสินค้ากลุ่มบริการ Supercore สะท้อนจากดัชนี PPI ซึ่งถูกใช้คำนวณในดัชนี PCE ออกมาสูงกว่าคาด จึงทำให้มองว่า 2-year yield อาจสูงขึ้นไปที่ราว 4.60-4.80% ส่วน 10-year yield อาจขึ้นไปที่ราว 4.20-4.40% ในช่วงเดือนมีนาคมนี้
อย่างไรก็ดี ในระยะกลางถึงยาว มองว่า Yields จะสามารถปรับลดลงได้ เพราะเงินเฟ้อ PCE ยังมีแนวโน้มลดลง จากราคาที่อยู่อาศัย (Shelter price) และราคาสินค้าในกลุ่ม Core goods ส่วนปัจจัยฤดูกาลที่เกิดจากการปรับขึ้นราคาในช่วงต้นปี ก็มีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป นอกจากนี้ คาดว่าอุปทานพันธบัตรรัฐบาลจะไม่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่อุปสงค์จะดีต่อเนื่อง
สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสลดดอกเบี้ยในปีนี้มากขึ้น โดยขณะนี้ตลาดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้ง สะท้อนจากตลาด Swap บนอัตราดอกเบี้ย THOR ระยะสั้นของไทย อยู่ต่ำกว่า Policy rate
โดยเหตุผลที่ กนง. จะลดดอกเบี้ย อาจมาได้จาก
1) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยอ่อนแอกว่าคาด สะท้อนจากเลข GDP ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ที่หดตัวเทียบไตรมาสก่อน เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง และดุลการค้าที่ขาดดุลมากกว่าคาด
2) การสื่อสารของ กนง. ที่ให้น้ำหนักต่อปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อ่อนแอขึ้นกว่าคาด
3) ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น ทั้งเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก
ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยครั้งแรก ยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ทำให้อัตราดอกเบี้ย THOR OIS ในตลาดเงินจะผันผวนและมีโอกาสสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งมองว่าจะเป็นโอกาสให้ Receive fixed rate ได้ โดยแนะนำ Receive THOR OIS ระยะกลาง (5 ปี)
ด้านค่าเงินบาทที่ผ่านมา อ่อนค่าเร็ว ซึ่งในระยะสั้นนี้ คาดว่าแรงกดดันด้านอ่อนค่าจะยังอยู่ โดยคาดว่าดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าตามแนวโน้ม Treasury yields ที่อาจจะยังสูงในระยะอันใกล้นี้ ทำให้เงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐ อาจอ่อนค่าได้อีกเล็กน้อย โดยในเดือนมี.ค.67 อาจอยู่ในกรอบ 36.00-36.50 บาท/ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ในระยะยาว ยังมองว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าต่อได้ เนื่องจาก
1) เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ในเวลาที่ Fed เริ่มลดดอกเบี้ย ซึ่งจะลดได้จากเงินเฟ้อที่น่าจะลดลงชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 2
2) เงินยูโรมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ค่าดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงด้วย
3) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในระยะต่อไป โดยล่าสุดความเชื่อมั่นปรับสูงขึ้นในเดือน ม.ค. และเลขส่งออกขยายตัวสูงขึ้น จึงคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าไปที่ราว 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 67)
Tags: SCB, ธนาคารไทยพาณิชย์, เศรษฐกิจไทย, แพททริก ปูเลีย