ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศจากเนเธอร์แลนด์กล่าวเมื่อวานนี้ (27 ก.พ.) ว่า ดาวเทียมสอดแนมดวงแรกของเกาหลีเหนือยังคง “ทำงานอยู่” หลังจากตรวจพบความเปลี่ยนแปลงในวงโคจร ซึ่งบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือสามารถควบคุมดาวเทียมดวงดังกล่าวได้สำเร็จ แม้ว่ายังไม่ทราบว่าดาวเทียมสอดแนมนี้มีความสามารถอะไรบ้างก็ตาม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลังจากล้มเหลวไป 2 ครั้ง เกาหลีเหนือก็ส่งดาวเทียมสอดแนมมัลลิยอง-1 (Malligyong-1) ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว โดยสื่อทางการของเกาหลีเหนืออ้างว่า ดาวเทียมดวงนี้ได้ถ่ายภาพสถานที่ทางทหารและทางการเมืองที่ละเอียดอ่อนในเกาหลีใต้ สหรัฐ และที่อื่น ๆ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยภาพใด ๆ ด้านเครื่องตรวจจับสัญญาณวิทยุอิสระยังไม่พบสัญญาณจากดาวเทียมดวงนี้
“แต่ตอนนี้เราพูดได้เต็มปากแล้วว่าดาวเทียมดวงนี้ยังมีการทำงานอยู่” นายมาร์โก แลงบรูค ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเทียมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ ระบุในบล็อกโพสต์
นายแลงบรูคอ้างข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการอวกาศร่วมที่นำโดยสหรัฐ โดยระบุว่าตั้งแต่วันที่ 19-24 ก.พ. ดาวเทียมดวงนี้ได้ปรับทิศทางเพื่อเพิ่มระดับความสูง ณ จุดโคจรใกล้โลกที่สุด (perigee) จากเดิม 488 กม. เป็น 497 กม.
“การปรับวงโคจรแบบนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่ามัลลิยอง-1 ยังไม่หยุดทำงาน และเกาหลีเหนือควบคุมดาวเทียมดวงนี้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่” นายแลงบรูคกล่าว
กระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้กล่าวว่าได้ประเมินแล้วเช่นกันว่าดาวเทียมดังกล่าวยังอยู่ในวงโคจร แต่จะไม่แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อการวิเคราะห์ใด ๆ ส่วนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 ก.พ.) นายชิน วอน-ซิก รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้กล่าวว่า ดาวเทียมดวงนี้ไม่ได้แสดงสัญญาณว่ากำลังปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ หรืองานสอดแนมแต่อย่างใด
ด้านนายแลงบรูคเขียนถึงความเห็นของนายชินว่า “แม้ว่าในตอนนี้เราจะบอกไม่ได้แน่ว่าดาวเทียมถ่ายภาพได้สำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยมันก็สามารถปรับเปลี่ยนวงโคจรได้ ซึ่งในแง่นี้ก็คือมันยังใช้งานได้อยู่”
นายแลงบรูคกล่าวว่า การที่ดาวเทียมดวงนี้ปรับระดับวงโคจรได้นั้นถือว่าน่าประหลาดใจ เนื่องจากการติดตั้งระบบขับเคลื่อนบนดาวเทียมเกาหลีเหนือนั้นเป็นเรื่องไม่คาดคิดมาก่อน และดาวเทียมของเกาหลีเหนือที่ผ่าน ๆ มาก็ไม่เคยมีการบังคับทิศทางได้ด้วย
“การมีความสามารถในการปรับระดับวงโคจรของดาวเทียมถือเป็นเรื่องใหญ่” นายแลงบรูคกล่าว
นายแลงบรูคสรุปว่า ตราบใดที่ยังมีเชื้อเพลิงเหลืออยู่ในดาวเทียม เกาหลีเหนือก็สามารถยืดอายุการใช้งานของดาวเทียมดวงนี้ได้ด้วยการปรับระดับความสูงขึ้น เมื่อวงโคจรลดต่ำลงเพราะเกิดการสูญเสียระดับวงโคจร (orbital decay)
อนึ่ง เกาหลีเหนือได้ประกาศว่าจะส่งดาวเทียมสอดแนมเพิ่มอีก 3 ดวงภายในปี 2567
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 67)
Tags: ดาวเทียมสอดแนม, เกาหลีเหนือ, เนเธอร์แลนด์