นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กรในฐานะโฆษก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยภายหลังจากที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่อง “มาตรการยกระดับความเชื่อมั่น เรื่อง short selling และ program trading รวมถึงมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน” ว่า ตลท.เตรียมออกมาตรใหม่เพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.มาตรการเกี่ยวกับการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ 2.มาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และ 3. มาตรการที่เป็นการเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุน
ทั้งนี้จะมีบางมาตรการที่สามารถบังคับใช้ได้เร็ว คือ การปรับคุณสมบัติของหุ้น หรือเพิ่มขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขั้นต่ำ (market capitalization) จากเดิม 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท, เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาสภาพคล่องของหุ้น โดยกำหนดให้หุ้นนั้นจะต้องมีสัดส่วนปริมาณการซื้อขายต่อเดือนเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน (monthly turnover) แล้วมากกว่า 2% ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในไตรมาส 2/67
ส่วนที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบ เช่น จัดให้มี Central Platform ในการ Check การมีหลักทรัพย์ก่อนขาย Short เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบผู้ลงทุนก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย, เพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้นที่ +/- 10% ของราคาซื้อขายล่าสุด หรือที่เรียกว่า Dynamic price band เพื่อไม่ให้ราคาผันวนเร็วเกินไป และมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ในเรื่องของการเพิ่ม Auto halt รายหุ้น เป็นต้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในครึ่งปีหลังนี้
“บางมาตรการเราอาจจะทำได้ทันที แต่บางมาตรการก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงระบบ เพื่อให้รองรับกับเรื่องนี้ ก็อาจจะต้องใช้เวลา หากทำได้เราอยากทำให้เร็วที่สุดทุกมาตรการอยู่แล้ว แต่แต่ละมาตรการมีวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างกัน เช่น อะไรที่เป็นเพียงแก้เกณฑ์ อย่างการปรับคุณสมบัติของหุ้น หรือ กรณีการลงโทษปรับ แค่แก้เกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ ทำ Hearing อันนี้ไม่ต้องไปปรับระบบอะไร อันนี้ทำได้เร็ว แต่หากต้องมีการแก้เกณฑ์และไปปรับระบบ ต้องดูความพร้อมของสมาชิก อันนี้อาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ” นายรองรักษ์ กล่าว
นอกจากนี้ ตลท.ยังเพิ่มมาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหุ้นด้วยการเพิ่มมาตรการการซื้อขายแบบ Auction สำหรับหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย จากปัจจุบันที่สามารถซื้อขายแบบจับคู่อัตโนมัติ โดยมีแนวทางการดำเนินการ คือ เปิดจับคู่ซื้อขายวันละ 3 รอบ (Pre-open1, Pre-open และ Pre-Close) โดยสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ ขณะที่ช่วง Break 1 และ Break 2 ไม่เปิดให้ส่ง Order แต่สามารถ Update / Cancel order ได้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในครึ่งปีหลังนี้
นายรองรักษ์ กล่าวต่อว่า ตลท. ยังเตรียมหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในการแก้ไขพรบ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อเปิดช่องให้มีบทลงโทษกับผู้ลงทุนที่ทำ Naked Short Selling ได้ เนื่องจากปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯมีอำนาจแค่ลงโทษได้เฉพาะบริษัทสมาชิกเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถลงโทษไปถึงตัวบุคคลได้จึงทำให้ผู้กระทำความผิดอาจไม่เกรงกลัว อย่างไรก็ตามจะสามารถดำเนินการได้ต้องไปแก้กฎหมายหลักทรัพย์ฯก่อน
สำหรับไทม์ไลน์ในการออกกฎเกณฑ์ของ ตลท.นั้น ภายหลังจากการเสนอหลักการต่อคณะกรรมการ ตลท. เพื่อพิจารณาอนุมัติแล้ว จะมีการหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) และจัดทำร่างกฎเกณฑ์รับฟังความคิดเห็น (Hearing) ก่อนขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังจากได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงจะสามารถประกาศบังคับใช้ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 67)
Tags: ตลท., ตลาดหลักทรัพย์, รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล