จากกรณีเกิดเหตุระทึกขวัญเมื่อพาวเวอร์แบงค์ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบิน สายการบินไทยแอร์เอเชีย FD3188 ขณะกำลังบินจากสนามบินดอนเมือง มุ่งหน้านครศรีธรรมราช โดยมีผู้โดยสาร 186 ชีวิต แต่ลูกเรือบนเครื่องบินสามารถดับไฟได้สำเร็จ
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินลำนั้น ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อประชาชน จึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจควบคุมพาวเวอร์แบงค์ทุกขนาดทุกยี่ห้อที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดและทางออนไลน์ต้องได้มาตรฐาน เนื่องจากพาวเวอร์แบงค์เป็นหนึ่งในสินค้าในจำนวน 144 รายการ ที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. โดยเฉพาะพาวเวอร์แบงค์ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มความถี่ในการตรวจควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย
พร้อมฝากถึงประชาชนให้เลือกใช้พาวเวอร์แบงค์ที่มีเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ที่ปรากฏอยู่บนสินค้าเท่านั้น สามารถสแกนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย รวมถึงคุณภาพของสินค้าว่าเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่ระบุสามารถร้องเรียนกลับมาที่ สมอ. ได้ทันที
ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. มิได้นิ่งนอนใจ หลังจากได้รับข้อสั่งการจากรมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานเพื่อตรวจสอบขยายผลอย่างเร่งด่วนถึงแหล่งที่มา รายละเอียดสินค้า และการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง สมอ. จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายนี้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากพาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. การทำและนำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้วจำนวน 97 ใบอนุญาต แบ่งเป็นผู้ผลิตในประเทศจำนวน 8 ใบอนุญาต และผู้นำเข้าจำนวน 89 ใบอนุญาต สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้รับใบอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th
โดยพาวเวอร์แบงค์ที่ได้มาตรฐาน จะผ่านการตรวจสอบจากห้องแล็ปอย่างเข้มข้นประมาณ 20 รายการ เช่น สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 70 องศาเซลเซียส หากลืมวางไว้ในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือที่ที่มีอุณหภูมิสูง ก็ยังอยู่ในสภาพปกติ ไม่บวมพอง หรือโก่งงอ ทนต่อการตกกระแทก ไม่แตกหักเสียหายง่าย ทนต่อความดันอากาศต่ำ หากอยู่บนเครื่องบินจะไม่เกิดการรั่วซึมหรือเกิดการระเบิด หรือในกรณีที่ลืมชาร์จทิ้งไว้นานๆ ก็จะไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ และลุกไหม้ และหากเกิดประกายไฟ เปลวไฟจะดับเองได้โดยไม่เกิดการลุกลาม
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า พาวเวอร์แบงค์ที่มี มอก. มีความปลอดภัยสูง และจะไม่เป็นอันตรายขณะใช้งาน สำหรับการเลือกซื้อพาวเวอร์แบงค์ที่ได้มาตรฐานนอกจากจะให้สังเกตเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ที่ปรากฏอยู่บนสินค้าทุกครั้งแล้ว
นอกจากนี้ วิธีการเก็บรักษา และการใช้งานก็มีส่วนสำคัญไม่ให้พาวเวอร์แบงค์หมดอายุการใช้งานก่อนเวลาอันควร เช่น ไม่ควรเก็บพาวเวอร์แบงค์ไว้ใกล้แหล่งความร้อน หรือรับแสงแดดโดยตรง ไม่ควรเก็บไว้ใกล้แก๊สที่ติดไฟได้ ความชื้น น้ำ หรือของเหลว ไม่ควรถอดชิ้นส่วน เปิด เผา หรือสอดแทรกสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในพาวเวอร์แบงค์ ไม่ควรให้พาวเวอร์แบงค์ถูกกระแทก ถูกกดทับ งอ หรือเจาะ ไม่ใช้งานในขณะเปียกน้ำหรือได้รับความเสียหายเพื่อป้องกันการช็อกไฟฟ้า และควรอ่านข้อควรปฏิบัติที่ให้มากับพาวเวอร์แบงค์ด้วยทุกครั้ง เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกวิธีและมีความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สมอ. ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด ภายใต้ภารกิจ Quick Win ตามนโยบายของรมว.อุตสาหกรรม ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน
โดยขณะนี้ สมอ. ได้ตรวจจับและยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานไปแล้วกว่า 142 ล้านบาท มีทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก วัสดุก่อสร้าง สีย้อมสังเคราะห์ เมลามีน และพลาสติก เป็นต้น จึงขอฝากถึงผู้ประกอบการหากท่านทำหรือนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ท่านจะถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ซึ่งบทลงโทษสำหรับผู้ทำและนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 67)
Tags: พาวเวอร์แบงค์, พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล, มอก.