KKP ปรับลด GDP ปี 67 เหลือโต 2.6% ลุ้น กนง.ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งปีนี้

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 67 จะเติบโตได้ที่ระดับ 2.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.7% (การประมาณการที่ไม่รวมผลของนโยบาย Digital Wallet ก่อนหน้านี้คือ 2.9%) และคาดว่าในปี 68 เศรษฐกิจไทย จะเติบโต 2.8% ตามแนวโน้มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเริ่มลดต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

ทั้งนี้ การปรับประมาณการ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 เรื่อง คือ

1. การนำผลของนโยบาย Digital Wallet ออกจากกรณีฐานในการประมาณการเศรษฐกิจ จากความไม่ชัดเจน และความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบาย

2. การปรับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมลง เพื่อสะท้อนปัญหาสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง

3. รายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด -19 มาก และมีแนวโน้มยังไม่กลับมาปกติ

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถโตได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 67 เมื่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะกลับมาชดเชยการชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรม และระดับสินค้าคงคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

*ภาคการผลิตไทยเสี่ยงชะลอตัวยาว

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนสถานการณ์ที่น่ากังวล คือ ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวติดกัน 5 ไตรมาส ซึ่งสะท้อนการสะสมสินค้าคงคลังจากความอ่อนแอของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย

KKP Research ประเมินว่า ภาคการส่งออกไทย จะสามารถฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยขยายตัว 1.8% สอดคล้องกับการคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลก อย่างไรก็ตาม การเติบโตของปริมาณการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทย อาจขยายตัวได้น้อยกว่าและคาดการณ์ได้ยาก ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย โดยแบ่งภาคการผลิตออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มที่มีการเร่งผลิตในช่วงที่อุปสงค์ชะลอ ส่งผลให้มีสินค้าคงคลังอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ โดยพบว่าสินค้าส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีปริมาณสินค้าคงคลังเฉลี่ย 6 เดือนล่าสุดสูงกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่มีการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งอาจจะใช้เวลาสักระยะในการลดปริมาณสินค้าคงคลัง ก่อนที่การผลิตจะกลับมาขยายตัวได้

2. กลุ่มธุรกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง สะท้อนจากดัชนีการผลิตที่หดตัวลงต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ส่งสัญญาณความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรม

KKP Research ประเมินว่า สินค้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มทั้งหมดประมาณ 23% ของภาคการผลิตไทย ที่เห็นได้ชัด คือการผลิตสิ่งทอ การผลิตโลหะ การผลิต Hard Disk Drive ในกลุ่มนี้แม้การผลิตอาจจะกระเตื้องขึ้นได้บ้างตามวัฏจักร แต่ก็มีความน่ากังวลในระยะยาว

3. กลุ่มที่สามารถฟื้นตัวตามอุปสงค์โลกได้ คิดเป็นประมาณ 50% ของมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตไทย ดังนั้น แม้อุปสงค์โลกจะพอฟื้นตัวได้ในปีนี้ แต่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นมาตรวัดสำคัญตัวหนึ่งใน GDP จะยังคงฟื้นตัวได้ช้า

*ท่องเที่ยวยังโตได้ แต่ไม่เหมือนเดิม

KKP Research ประเมินว่า การท่องเที่ยวจะยังคงเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี มีความท้าทาย 2 ด้าน ที่อาจทำให้ภาคการท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาเป็นแรงส่งหลักต่อเศรษฐกิจไทยได้เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 คือ

1. การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่ำลงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจากทั้งโครงสร้างนักท่องเที่ยว และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป

2. KKP Research ยังคงการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 67 ที่ 35.2 ล้านคน แต่นักท่องเที่ยวจีนที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าลงกว่าเดิม หรืออาจไม่กลับมาในจำนวนเท่าเดิมอีกต่อไป ตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง

*เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากกว่าเดิม

KKP Research ประเมินว่า ภายใต้เงื่อนไขของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ค่าเงินบาทในระยะยาว จะเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่อาจกลับด้านเป็นอ่อนค่า มากกว่าแนวโน้มแข็งค่า ที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องในช่วงปี 58-62 โดยมาจาก 2 เหตุผลสำคัญ คือ

1. ดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเกินดุล ได้ลดลงตามดุลการค้า โดยคาดว่าปี 67 จะเกินดุลเพียง 0.8%

2. อัตราดอกเบี้ยของไทยจะอยู่ในระดับต่ำลง ตามทิศทางเงินเฟ้อ และศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย และต่างประเทศกว้างกว่าในอดีต

*เงินเฟ้อต่ำต่อ คาดปีนี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง

KKP Research ประเมินว่าเงินเฟ้อทั้งในปี 67 และ 68 จะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% และ 0.9% ตามลำดับซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ และ 1 ครั้งในปี 68 โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ

1. ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยสูงกว่าที่คาดไว้ จากแนวโน้มการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลาง ที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้

2. ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจ อาจมีการปรับตัวลดลงตามศักยภาพการเติบโตในระยะยาว

3. แนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ เป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทาย และการชะลอตัวเศรษฐกิจไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงอย่างเดียว เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจบางส่วน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยสั่งสมมาอย่างยาวนาน และเริ่มได้ส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น

ดังนั้น ตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากโครงสร้าง ควบคู่กันไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 67)

Tags: , , ,
Back to Top