ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่หลากหลายและรุนแรงมากขึ้น ทั้งปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566/67 ทำให้เกิดภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงที่ยาวนาน และอุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมทั้งโอกาสเกิด “ลานีญา” ที่นำมาซึ่งความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
หากย้อนดูผลกระทบต่อไทยในปี 2558 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่เกิด “ซูเปอร์เอลนีโญ” พบว่า ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของไทยส่วนใหญ่ลดลง โดยข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตลดลง 15.4% 17.6% และ 1.9% ตามลำดับ
สำหรับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ในปีเพาะปลูก 2566/67 นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ศูนย์สารสนเทศการเกษตร คาดการณ์ว่า พื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำสูง รวมทั้งอาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งพืชที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ คือ ข้าว พืชไร่ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย) และพืชสวน (ลำไย กาแฟ ทุเรียน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน) คาดการณ์มูลค่าผลกระทบด้านการเกษตร (ด้านพืช) รวม 3.2 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายประมาณ 5,793 ล้านบาท
ผลผลิตลดต่อเนื่อง-ราคาใกล้เคียงปีก่อน
– ข้าวนาปี มีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 61,927,890 ไร่ (ลดลง 1.45% จากปีที่แล้ว) เนื้อที่เก็บเกี่ยว 58,411,759 ไร่ (ลดลง1.82%) ผลผลิตรวม 25,569,408 ตัน (ลดลง 4.28%) และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม (ลดลง 2.82%)
แนวโน้มราคาในปี 2567 คาดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีใกล้เคียงกับปี 2566 เนื่องจากข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับปี 2566 หลายประเทศประสบกับปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณผลผลิตที่เก็บสำรองไว้ในสต็อกลดลง จึงคาดว่าต่างประเทศมีความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น
– มันสำปะหลังโรงงาน มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 9,048,808 ไร่ (ลดลง 3.22%) ผลผลิตรวม 27,941,375 ตัน (ลดลง 9.08%) และผลผลิตต่อไร่ 3,088 กิโลกรัม (ลดลง 6.05%)
แนวโน้มราคาในปี 2567 คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้ และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จะใกล้เคียงกับปี 2566 เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการใช้มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย
– ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 6,844,027 ไร่ (เพิ่มขึ้น 5.72%) เนื้อที่เก็บเกี่ยว 6,762,802 ไร่ (เพิ่มขึ้น 4.76%) ผลผลิตรวม 4,892,172 ตัน (เพิ่มขึ้น 2.84%) และผลผลิตต่อไร่ 715 กิโลกรัม (ลดลง 2.72%)
แนวโน้มราคาในปี 2567 คาดยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากสถานการณ์สงครามระหว่าง ยูเครน – รัสเซียที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติ รวมถึงสภาวะภัยแล้ง และสภาพอากาศที่แปรปรวนทั่วโลก อาจส่งผลต่อความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารในหลายประเทศ ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนอื่น ๆ ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศที่ผลิตได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเลี้ยงปศุสัตว์
– ปาล์มน้ำมัน มีเนื้อที่เพาะปลูก 6,248,146 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1.85%) ผลผลิตรวม 18,196,993 ตัน (ลดลง 2.10%) และผลผลิตต่อไร่ 2,912 กิโลกรัม (ลดลง 3.89%)
แนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศ เคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก ในปี 2567 คาดว่าราคาน้ำมันปาล์ม ในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ว่า ผลผลิตในประเทศจะมีปริมาณลดลงจากสภาวะเอลนีโญ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันปาล์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 31.70 บาท และราคาผลปาล์มสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.70 บาท
– ยางพารา มีเนื้อที่เพาะปลูก 22,081,925 ไร่ (เพิ่มขึ้น 0.24%) ผลผลิตรวม 4,707,265 ตัน (ลดลง 1.64%) และผลผลิตต่อไร่ 213 กิโลกรัม (ลดลง 1.84%)
แนวโน้มราคาปี 2567 คาดว่าราคาในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการคาดการณ์ความต้องการยางพาราในตลาดโลกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อราคาตลาดล่วงหน้า และราคาตลาดภายในประเทศ
– กุ้งขาวแวนนาไม ในปี 2566 มีเนื้อที่เลี้ยง 260,660 ไร่ (ลดลง 0.14%) ผลผลิตรวม 370,900 ตัน (เพิ่มขึ้น 0.72%) และผลผลิตต่อไร่ 1,423 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 0.85%)
แนวโน้มราคาปี 2567 ราคากุ้งที่เกษตรกรขายได้ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยราคากุ้งจะยังไม่ปรับตัวสูงเหมือนอดีต เนื่องจากราคาในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน และประเทศผู้ส่งออกจะมีการแข่งขันด้านราคา ส่งผลให้ราคาในประเทศไม่ปรับตัวสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม หากผู้ส่งออกมีการรับซื้อกุ้งในราคาประกันไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จะทำให้ราคากุ้งในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น
เตรียมรับมือ “ลานีญา” ต่อ
International Research Institute for Climate and Society (IRI) คาดการณ์ว่า มีความน่าจะเป็น 2% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 58% ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน
“ลานีญา” เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับ “เอลนีโญ” กล่าวคือ จะมีปริมาณฝนที่มากกว่าปีปกติ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายได้หลากหลายประเภทมากกว่าภัยแล้ง ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตร จะได้รับผลกระทบตามปริมาณน้ำและความรุนแรงในการไหลผ่านพื้นที่ รวมถึงส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน อาทิ ข้าวนาปี ที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายนบางส่วนจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง ทำให้ผลผลิตเสียหาย และออกสู่ตลาดล่าช้าไปอย่างน้อย 1 เดือน
สำหรับแนวทางการรับมือต่ออุปสรรคของภาคเกษตรในปี 67 ของแต่ละภาคส่วนมีดังนี้
1. เกษตรกร
– ควรประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเพาะปลูกสมัยใหม่ที่พึ่งพาการใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าเดิม เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง และปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดต้นทุน เช่น การวิเคราะห์ดิน เพื่อวางแผนการใช้ปุ๋ยได้ตรงกับลักษณะดิน รวมทั้งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการเพาะปลูก
– ควรเสริมสร้างขีดความสามารถให้มีความรู้และทักษะใหม่ๆ ในการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของตลาดที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงทำความเข้าใจพลวัตของตลาดโลก เทคนิคการเกษตรใหม่ๆ มาตรฐานด้านคุณภาพสินค้าเกษตร และกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
2. ธุรกิจเกษตรแปรรูป
– ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรับมือกับความผันผวนของต้นทุนสินค้าเกษตร เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกร จะช่วยลดแรงกดดันด้านต้นทุนในช่วงที่ราคาวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นได้
– ควรร่วมมือกับเกษตรกรในการประยุกต์ใช้ Climate Tech เพื่อช่วยบริหารจัดการฟาร์ม ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ และสร้างเครือข่ายการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์
– ควรศึกษาและติดตามกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากกฎระเบียบการค้า โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมมีการยกระดับอยู่เสมอ และมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น รวมถึงมีโอกาสขยายขอบเขตไปยังสินค้ากลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ไม่สามารถปรับตัวได้
3. ภาครัฐ
– วางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และควรให้ความสำคัญกับการลงทุนบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
– พัฒนาเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศ และระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูก และเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้
– ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการเผยแพร่ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทการเกษตรของประเทศไทย
– สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช และปศุสัตว์ที่ทนแล้ง รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มแปรปรวนมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก ส่งผลให้การใช้น้ำในภาคเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
– พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและระบบขนส่งสินค้าเกษตร เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่เกษตรกรรมห่างไกลและในชนบท
– จังหวัดควรมีแนวทางด้าน BCG เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่แตกต่างกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 67)
Tags: SCOOP, ZoomIn, ฝนแล้ง, ลานีญา, สภาพอากาศ, สินค้าเกษตร, เอลนีโญ