Media Talk: เตรียมตัวและองค์กรให้พร้อมอย่างไรในยุค Martech

Martech หรือเทคโนโลยีการตลาดเป็นเทคโนโลยีที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปทั้งฝั่งแบรนด์และผู้บริโภค เพราะในชีวิตประจำวัน ขณะที่เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ถูกพัฒนาและเปิดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น Social Listening ที่เป็นกระแสและได้รับความสนใจอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว หรือล่าสุดอย่าง Generative AI ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน แพลตฟอร์ม Martech มีความหลากหลายและบางแพลตฟอร์มก็ครอบคลุมทุกขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การวางแผนการตลาด การทำวิจัย การสร้างคอนเทนต์ หรือระบบการตลาดแบบอัตโนมัติ (Marketing Automation) แล้วเราจะเตรียมตัวและองค์กรให้พร้อมอย่างไรท่ามกลางมหาสมุทรแห่ง Martech

“คุณเอ็มมี่” ณัฐวีร์ ตันติสัจจธรรม ซีอีโอ บริษัท STEPS Training จำกัด ได้กล่าวถึง MarTech ในงาน Martech Expo 2024 หัวข้อ Knowledge is not enough: Jump to Martech Ocean ว่า องค์กรต่าง ๆ ในไทยเริ่มให้ความสนใจกับการเรียนรู้ในเรื่องของ Martech อย่างมาก ด้วยความที่จำนวนของเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชันMartech ในปัจจุบันมีจำนวนมากและมีความหลากหลาย ดังนั้น บุคลากรที่จะเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องนี้ จึงไม่ได้มีเพียงแค่ทีมการตลาดหรือไอทีเท่านั้น แต่ทีมงานอื่นๆขององค์กรก็จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะได้ใช้งานในแต่ละแผนกได้อย่างเหมาะสม

ทางด้านคุณทิป มัณฑิตา จินดา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้ขัดการจาก Digital Tips ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ของตนเองเช่นกัน โดยกล่าวว่า ในปีนี้ จะเห็นได้เลยว่า Martech สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น นับตั้งแต่ปรากฏการณ์ของ Chat GPT ที่ทำให้คนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการใช้โค้ดหรือไอทีมาก่อน ต่างก็สามารถใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ความรู้ในการใช้งานนั้นยังไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดท่ามกลางมหาสมุทรแห่ง Martech คุณทิปได้สรุป 3 ปัจจัยสำคัญในการรับมือ Digital disruption หรือภาวะผันผวนที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนี้

• Skillset : ไม่ว่าจะเป็นการทำ Digital Marketing ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นความรู้ที่แทบจะเป็นเรื่องปกติกันไปแล้วในการทำงานไม่ว่าจะสายงานใด แต่ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) นั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะแม้ว่า เราจะมีเอไอเข้ามาช่วย แต่สุดท้ายแล้ว บุคลากรก็ต้องนำความรู้หรือข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ เพื่อต่อยอดในการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า (Customer Experience) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

• Mindset : เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ซึ่งการปรับ Mindset เป็นสิ่งที่ดูเหมือนง่ายแต่ก็ไม่สามารถประมาทหรือมองข้ามไปได้ เพราะเพียงพลาดแค่นิดเดียว ก็สามารถสร้างวิกฤตแก่องค์กรได้ รวมทั้งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปลูกฝังกันทั้งองค์กรอีกด้วย

• Toolset : ความสามารถในการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ ๆ

สำหรับ Mindset นั้น คุณทิปได้ยกตัวอย่างของ Kodak Moment ว่า จริง ๆ แล้วโกดักได้ลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อผลิตกล้องดิจิทัล แต่มาพลาดตรงที่ Mindset ที่ต้องการพัฒนากล้องดิจิทัลให้คล้ายกับกล้องฟิล์ม ความต้องการของโกดักที่จะผลิตกล้องดิจิทัลให้มีฟังก์ชันคล้ายกับกล้องฟิลม์จึงนำมาซึ่งโมเมนต์แห่งความล้มเหลวในที่สุด

นอกจากนี้ คุณทิปยังได้ยกตัวอย่างของเครื่องมือหรือ Tool ที่เธอชอบและใช้งานเองอย่าง Rask.ai ที่ช่วยทำให้คลิปวิดีโอของเธอที่นำเสนอในภาษาไทยกลายเป็นภาษาเวียดนาม แม้ว่า เอไอแพลตฟอร์มนี้จะยังทำงานได้ไม่ 100% แต่เธอก็สามารถใช้ Chat GPT มาช่วยเกลาภาษาหรือถ้อยคำให้สละสลวยยิ่งขึ้นได้ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการทำงานไปได้มาก

ปัญหาและข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นกับการเลือกใช้ Martech

1.ขาด Objective ที่ชัดเจน (Ignoring business needs)

2.เครื่องมือที่ไม่เอื้อต่อเครื่องมืออื่น ๆ (Ignoring Compatibility)

3.ทำให้ซับซ้อนโดยไม่จำเป็น (Making Tech tool too complicated)

4.ดูราคาเป็นปัจจัยหลัก (Only Looking at the price tag)

ในเรื่องของข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยในวงการธุรกิจนั้น คุณเอ็มมี่กล่าวว่า ประเด็นที่ตนเองพบเจอในองค์กรต่าง ๆ เป็นประจำคือการขาดการทำ Business Analsis หรือการวิเคราะห์ธุรกิจ การสร้างโร้ดแมพ ( Roadmap) เพื่อวางเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาวของตนเอง ท่ามกลางเครื่องมือ Martech ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น Business Understanding Skill จึงเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้

ทางด้านคุณทิปได้กล่าวถึงปัญหาที่พบได้บ่อยอีกเรื่องคือ การที่เครื่องมือ Martech ไม่สามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้ และกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ชีวิตยุ่งยากกว่าเดิม หรือเรื่องของการให้ความสำคัญกับราคาของเครื่องมือกับความเชื่อที่ว่า ราคาแพงที่สุดคือดีที่สุด ซึ่งจริง ๆ แล้ว Martech ที่ราคาแพง บางทีฟังก์ชั่นบางฟังก์ชันในระบบเหล่านั้นเราอาจจะไม่ได้ใช้งานเลยก็เป็นได้ การเลือกใช้ Martech ให้เข้ากับองค์กรจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากก

ท้ายสุดแล้ว คุณทิปได้ย้ำว่า “อย่าใช้ Martech เพียงเพราะเห็นคนอื่นใช้” สุดท้ายทุกอย่างต้องทำด้วยความเข้าใจ เพราะ “ความไม่รู้แพงกว่าค่าเรียน” การพัฒนาบุคลกรจึงจะต้องทำควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ ส่วนคุณเอ็มมี่ได้เน้นย้ำว่า การเรียนรู้เพียงแค่วันเดียวหรือคอร์สเดียวไม่สามารถแก้ไชขปัญหาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ตนเองในฐานะ Educator ยังต้องมีการโค้ชสอนและทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในระยะยาวเช่นกัน เช่นเดียวกับในองค์กรที่ต้องมีผู้ทำหน้าที่เป็น Educator เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า ลอยลำอยู่รอดท่ามกลางมหาสมุทร Martech นั่นเอง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top