In Focus: สงครามรัสเซีย-ยูเครนครบรอบ 2 ปี ศึกครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด?

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะล่วงเข้าสู่ปีที่ 2 ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ โดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง แต่กลับร้อนระอุมากขึ้น เนื่องจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียยังคงรุกคืบในดินแดนของยูเครนอย่างไม่ลดละ ขณะที่ยูเครนซึ่งเป็นผู้ถูกบุกรุกเริ่มอ่อนกำลังลงจนต้องร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากบรรดาชาติพันธมิตร

หลังจากรัสเซียส่งทหารเข้าทำสงครามในยูเครนเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.พ. 2565 ประชาชนทั่วโลกวิตกกังวลและตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนัก ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าศึกครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและดันราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจนส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้นด้วย เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มโอเปกพลัส ไม่เพียงเท่านั้น ประชาชนยังวิตกกว่าข้าวปลาอาหารจะแพงขึ้นเนื่องจากยูเครนและรัสเซียต่างก็เป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลก

เศรษฐกิจโลกถูกซ้ำเติมมากขึ้นเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส จนนำไปสู่การเปิดศึกสงครามในวันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นการเปิดแนวรบในตะวันออกกลางที่คู่ขนานไปกับสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน คราวนี้ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจดิ่งลงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นดัชนีตลาดหุ้น ภาคการผลิต ภาคบริการ และแม้แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก

ทันทีที่สงครามอิสราเอล-ฮามาสอุบัติขึ้นในช่วงรุ่งสางของวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. 2566 สปอตไลต์ของคนทั้งโลกก็หันไปส่องสถานการณ์ในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด จนลืมไปว่าการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงดำเนินอยู่ในอีกฟากฝั่งของโลก … กระทั่งปูตินสร้างความฮือฮาด้วยการออกมาให้สัมภาษณ์กับนายทัคเกอร์ คาร์ลสัน ผู้ประกาศข่าวชื่อดังชาวอเมริกัน และล่าสุด สารคดีเรื่อง “20 Days in Mariupol” หรือ “20 วันในเมืองมาริอูโปล” ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์อังกฤษ (British Academy Film Awards หรือ BAFTA) ทั่วโลกก็หันมาจับตาสถานการณ์ในยูเครนอีกครั้งอย่างใจจดใจจ่อว่า ศึกครั้งนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหนและเมื่อใด … และสิ่งที่คาดว่าจะทำให้สงครามครั้งนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก คือการที่นายอเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านของรัสเซียและเป็นคู่ปรับของปูติน เสียชีวิตในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำแถบอาร์กติก

 

* ศึกรัสเซีย vs ยูเครน ไม่ใช่แค่สงคราม แต่ลามสู่การเมืองโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามรัสเซียและยูเครนไม่ต่างอะไรจาก “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่กำลังลุกลามไปสู่แนวรบทางการเมืองของหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรปซึ่งสภานิติบัญญัติเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการ “อุ้มยูเครน” จนสั่นสะเทือนสถานะการคลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่หลายประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรกับยูเครนนั้น กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง

สหรัฐกำลังจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.ปีนี้ โดยขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพรรคเดโมแครตส่งโจ ไบเดนเป็นตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนฝั่งพรรครีพับลิกันนั้น คาดว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้เป็นตัวแทนเข้าชิง โดยแม้ว่าทรัมป์จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่ก็ยังคงมีฐานเสียงจำนวนมากที่ยังคงจงรักภักดีและพร้อมที่จะสนับสนุนให้เขากลับเข้าทำเนียบขาวอีกครั้ง

ในขณะที่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกำลังใกล้เข้ามา คู่แค้นในสมรภูมิรบอย่างปูตินและโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ก็ออกมาแสดงความเห็นแบบต่างกรรมต่างวาระ โดยปูตินให้สัมภาษณ์ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาว่า เขาอยากให้สหรัฐมีประธานาธิบดีที่คาดเดาได้อย่างไบเดน มากกว่าทรัมป์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ปูตินออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองสหรัฐ ขณะที่เซเลนสกีให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษว่า เขารู้สึกกังวลหากว่าทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เพราะเกรงว่าทรัมป์จะผลักดันให้สหรัฐยุติความช่วยเหลือยูเครน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เซเลนสกีแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองสหรัฐเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาเขาแสดงจุดยืนเป็นกลางในเรื่องนี้

 

* ยูเครนเปลี่ยนตัวผบ.ทบ. หวังปรับกระบวนทัพสู้ศึกรัสเซีย

ในขณะที่รัสเซียรุกคืบเข้ายึดดินแดนยูเครนอย่างไม่ลดละ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนตัดสินใจปลดนายพลวาเลอรี ซาลุซนี ผู้บัญชาการกองทัพบกซึ่งเป็นวีรบุรุษในสายตาของชาวยูเครนจำนวนมาก และแต่งตั้งพลเอกโอเล็กซานเดอร์ ซีร์สกี ขึ้นเป็นผู้บัญชาการคนใหม่เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ ในขณะที่กองกำลังรัสเซียกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามที่ล่วงเข้าสู่ปีที่ 2

ในช่วงที่กองทัพยูเครนอยู่ภายใต้การบัญชาการของนายพลซาลุซนีนั้น กองกำลังยูเครนสามารถหยุดยั้งการโจมตีครั้งแรกของรัสเซียในกรุงเคียฟและยึดดินแดนกลับคืนมาได้บางส่วนในปี 2565 แต่สถานการณ์ในสมรภูมิกลับพลิกผันจนยูเครนเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในปี 2566 เนื่องจากการโต้กลับของยูเครนไม่สามารถทะลวงแนวป้องกันที่แน่นหนาของรัสเซียได้

นับตั้งแต่นั้นมา รัสเซียได้เพิ่มแรงกดดันการโจมตีทางแนวรบด้านตะวันออก โดยพยายามตัดขาดและปิดล้อมเมืองอัฟดิฟกา (Avdiivka) ของยูเครน ขณะที่เซเลนสกียอมรับว่า ความพ่ายแพ้ในปี 2566 เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจปลดนายพลซาลุซนี

พล.อ.ซีร์สกี เจ้าของฉายา “เสือดาวหิมะ” เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกคนใหม่ท่ามกลางความไม่แน่นอนอย่างมาก ในขณะที่ยูเครนรอความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐ ซึ่งถูกชะลอโดยพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสของสหรัฐเป็นเวลาหลายเดือน

ชาวยูเครนกังวลว่า ในขณะที่ยูเครนกำลังดิ้นรนหาวิธีเกณฑ์พลเรือนเข้าสู่กองทัพนั้น การปลดนายพลซาลุซนีออกจากตำแหน่งอาจทำลายขวัญกำลังใจของกองทัพในแนวรบที่ยาวถึง 1,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ อาจส่งผลเสียต่อคะแนนนิยมของเซเลนสกีอีกด้วย โดยหลังการประกาศปลดนายพลซาลุซนี โลกโซเชียลในยูเครนแห่โพสต์ข้อความขอบคุณนายพลซาลุซนี เจ้าของฉายา “นายพลเหล็ก” และชาวยูเครนบางรายโพสต์รูปนายพลซาลุซนีพร้อมกับรูปหัวใจ

 

* รัสเซียดูเหมือนเป็นต่อยูเครน แต่ IMF เตือนเศรษฐกิจส่อแววทรุด

เมื่อเทียบแสนยานุภาพทางทหารกันแบบหมัดต่อหมัด ใครก็มองออกว่ารัสเซียกำลังได้เปรียบในสงครามครั้งนี้ และเป็นการได้เปรียบโดยไม่ต้องร้องขอยุทธปัจจัยทางทหารจากชาติใด ๆ ในขณะที่ยูเครนเป็นฝ่ายตั้งรับและพึ่งพาความช่วยเหลือจากชาติพันธมิตรเป็นหลัก อย่างไรก็ดี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซีย เนื่องจากการรุกรานยูเครนทำให้นานาประเทศประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย และยังส่งผลให้บริษัทชั้นนำระดับโลกพากันตบเท้าถอนธุรกิจออกจากประเทศรัสเซีย เพื่อแสดงจุดยืนในการอยู่เคียงข้างชาวยูเครนที่เป็นผู้ถูกกระทำ

นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการ IMF เตือนว่า เศรษฐกิจรัสเซียยังคงเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่และมีแนวโน้มที่จะยากลำบากมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการไหลออกของประชากร และการที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรนั้นทำให้รัสเซียสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยลง

“สิ่งที่น่ากังวลก็คือเศรษฐกิจของรัสเซียในขณะนี้กลายเป็นเศรษฐกิจสงคราม (war economy) เมื่อคุณมองดูที่รัสเซียในขณะนี้ คุณจะเห็นการผลิตด้านการทหารที่เพิ่มขึ้น แต่การอุปโภคบริโภคอ่อนแอลง ซึ่งสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในยุคสหภาพโซเวียต นั่นคือการผลิตอยู่ในระดับสูง แต่การอุปโภคบริโภคอยู่ในระดับต่ำ” นางกอร์เกียวากล่าวกับผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีบนเวทีประชุม “World Governments Summit” ซึ่งจัดขึ้นที่นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา

IMF ระบุว่า การใช้จ่ายด้านการทหารของรัสเซียพุ่งขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่สงครามในยูเครนเปิดฉากขึ้น โดยในเดือนพ.ย. 2566 ปูตินได้อนุมัติงบประมาณที่เพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารขึ้นสู่ระดับ 30% ของการใช้จ่ายด้านการคลัง และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ในปี 2567 จากระดับของปี 2566

นอกจากนี้ IMF ยังอ้างถึงข้อมูลที่นักวิชาการด้านการอพยพถิ่นฐานรวบรวมได้ในเดือนต.ค. 2566 ซึ่งระบุว่า มีประชาชนกว่า 800,000 คนอพยพออกจากรัสเซีย โดยส่วนใหญ่เป็นคนงานที่มีทักษะในด้านต่าง ๆ เช่นไอทีและวิทยาศาสตร์

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ปูตินกล่าวในวันเดียวกันว่า เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัว 3.6% ในปี 2566 โดยอ้างว่าสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.5% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลก พร้อมกับกล่าวว่าการขยายตัวดังกล่าวถือเป็นการบรรลุเป้าหมายครั้งสำคัญของรัสเซีย โดยได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของภาคการผลิตในประเทศ

 

* จีน-เกาหลีเหนือ มหามิตรของปูตินในยามรัสเซียถูกคว่ำบาตร

แม้รัสเซียถูกบรรดาชาติพันธมิตรของยูเครนรุมประณามและคว่ำบาตร แต่รัสเซียยังมีจีนและเกาหลีเหนือเป็นมหามิตรที่ยืนเคียงข้างและเข้าอกเข้าใจรัสเซียมาโดยตลอด โดยเมื่อไม่นานมานี้ ปูติน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้หารือกันทางโทรศัพท์ และต่างก็ย้ำในระหว่างการพูดคุยว่าจะไม่ยอมให้สหรัฐแทรกแซงกิจการภายในประเทศ

ปูตินและสี จิ้นผิงได้พูดคุยกันเกี่ยวกับการสร้างระเบียบโลกแบบหลายขั้วที่ยุติธรรมมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐและชาติพันธมิตรพยายามควบคุมจีนและรัสเซีย โดยจีนและรัสเซียมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นและครอบคลุมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากที่สหรัฐและชาติพันธมิตรใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนักหลังส่งทหารบุกยูเครนเมื่อปี 2565

การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียมีมูลค่าสูงถึง 2.182 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. 2566 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่ทั้งสองประเทศตั้งไว้ในปี 2562 เร็วกว่ากำหนด 1 ปี นอกจากนี้ รัสเซียและจีนค้าขายกันด้วยเงินรูเบิลและเงินหยวนมากขึ้น เพื่อลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนมหามิตรน้องเล็กอย่าง คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือนั้น ปูตินเพิ่งส่งรถยนต์ที่รัสเซียผลิตเองไปให้เป็นของขวัญ เพื่อตอบแทนน้ำใจที่เกาหลีเหนือยืนหยัดเคียงข้างในวันที่รัสเซียถูกชิงชังจากชาวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกาหลีเหนือกล้าฝืนมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับรัสเซียเพื่อใช้สู้รบกับยูเครน

นอกจากนี้ สำนักข่าว KCNA ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลเกาหลีเหนือยังประโคมข่าวว่า คิม จองอึน ได้ส่งเทียบเชิญปูตินให้เดินทางเยือนเกาหลีเหนือ ขณะที่ปูตินก็ตอบรับคำเชิญ และส่งสัญญาณว่าจะเดินทางไปเยือนดินแดนเกาหลีเหนือในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งสร้างความปลาบปลื้มให้กับชาวเกาหลีเหนือที่มองว่าปูตินเป็นสหายคนสนิทของท่านผู้นำสูงสุด

รายงานระบุว่า ปูตินอาจจะเดินทางเยือนเกาหลีเหนือในช่วงเดือนมี.ค. ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย และนับเป็นการเยือนเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรกของปูตินนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2543 ซึ่งในขณะนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคือคิม จองอิล บิดาผู้ล่วงลับของคิม จองอึน

 

* “อีลอน มัสก์” โดดร่วมวงเชียร์รัสเซีย ค้านร่างกฎหมายหนุนยูเครน

อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อเทคโนโลยีผู้กว้างขวางไม่เคยทำให้ชาวโซเชียลผิดหวัง เมื่อเขาแสดงความเห็นอย่างดุดันไม่เกรงใจพันธมิตรของยูเครนว่า ไม่มีทางที่ปูตินจะแพ้สงครามในยูเครน และหากปูตินเลือกที่จะถอยหลัง เขาจะถูกลอบสังหารอย่างแน่นอน

นายมัสก์กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยเอ็กซ์ สเปซส์ (X Spaces) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเอ็กซ์ โดยการเสวนาดังกล่าวครอบคลุมถึงผลกระทบอีกด้านของร่างกฎหมายมอบการสนับสนุนเพิ่มเติมให้แก่ยูเครนเพื่อให้ยังคงสามารถสู้ศึกกับรัสเซียต่อไปได้

นายมัสก์ผ่ากลางวงงานเสวนาซึ่งมีวุฒิสมาชิกหลายคนของสหรัฐร่วมอยู่ด้วยว่า การเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนยูเครนนั้น ไม่ได้ช่วยอะไรยูเครน และสงครามที่ยืดเยื้อก็ไม่ได้ช่วยยูเครนเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศยังรายงานโดยอ้างข่าวกรองของยูเครนว่า กองกำลังของรัสเซียกำลังเพิ่มการใช้เครื่องรับสัญญาณดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ของนายอีลอน มัสก์ ในแนวหน้ามากขึ้น

กระทรวงกลาโหมยูเครนระบุว่า ตามข้อมูลการดักฟังการสนทนาของกองทหารรัสเซียที่ประจำอยู่ในภูมิภาคโดเนตสก์ซึ่งยึดครองโดยรัสเซียพบว่า พวกเขาได้ติดตั้งอุปกรณ์ของสตาร์ลิงก์เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยประเด็นทหารรัสเซียใช้บริการดาวเทียมสตาร์ลิงก์ของนายมัสก์นั้น ได้กลายเป็นหัวข้อในการพูดคุยบนโซเชียลมีเดียและสื่อของยูเครนอย่างกว้างขวาง

 

* ส่องความเคลื่อนไหวปูติน ก่อนครบรอบ 2 ปีโจมตียูเครน

ก่อนที่จะถึงวันครบรอบ 2 ปีของการทำสงครามกับยูเครนนั้น ปูตินได้สร้างความฮือฮาด้วยการให้สัมภาษณ์กับนายทัคเกอร์ คาร์ลสัน ผู้สื่อข่าวชื่อดังของสหรัฐเมื่อวันที่ 8 ก.พ. โดยปูตินกล่าวว่ารัสเซียจะต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติ และไม่สนใจที่จะขยายสงครามในยูเครนไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น โปแลนด์ และลัตเวีย

นายคาร์ลสันถามปูตินถึงความเป็นไปได้ในการส่งกองทหารรัสเซียไปยังโปแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของนาโต (NATO) ซึ่งปูตินกล่าวว่า “คงมีในกรณีเดียวเท่านั้น หากโปแลนด์โจมตีรัสเซีย เพราะเราไม่มีความสนใจโปแลนด์หรือลัตเวีย” โดยปูตินให้สัมภาษณ์เป็นภาษารัสเซีย และถูกพากย์เป็นภาษาอังกฤษ

ต่อมาในวันที่ 15 ก.พ. ปูตินลงพื้นที่เยี่ยมเยียนโรงงานผลิตถังน้ำมันในแคว้นอูราล และกล่าวกับบรรดาคนงานว่า ครอบครัวชาวรัสเซียต้องมีลูกอย่างน้อย 2 คนเพื่อให้ชาติพันธุ์ของรัสเซียอยู่รอด และต้องมีลูกสามคนหรือมากกว่านั้น หากต้องการให้ประเทศพัฒนาและเติบโต หลังจากรัสเซียมียอดผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากสงครามในยูเครน อีกทั้งประชากรหลายแสนคนได้หลบหนีออกนอกประเทศ เนื่องมาจากไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม หรือกลัวว่าจะถูกบังคับให้เข้าร่วมการสู้รบกับยูเครน

 

* คอหนังสารคดีรอลุ้น “20 Days in Mariupol” จ่อได้รางวัลบนเวทีออสการ์

“20 Days in Mariupol” หรือ “20 วันในเมืองมาริอูโปล” ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับสงครามในยูเครนที่ร่วมผลิตโดยสำนักข่าวเอพี ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์อังกฤษ (British Academy Film Awards หรือ BAFTA) เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายมิสติสลาฟ เชอร์นอฟ ผู้อำนวยการสร้างสารคดีชุดดังกล่าวเปิดเผยว่า เขาและทีมงานของสำนักข่าวเอพีใช้เวลา 3 สัปดาห์ในเมืองมาริอูโปลซึ่งเป็นเมืองของยูเครนที่ถูกปิดล้อมจากกองกำลังรัสเซียในช่วงต้นปี 2565 โดยเสี่ยงชีวิตเพื่อถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพลเรือน และได้บันทึกภาพการสู้รบที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

นายเชอร์นอฟ พร้อมด้วยนายเยฟเจนีย์ มาโลเล็ตกา ซึ่งเป็นช่างภาพ และนางวาซิลิซา สเตปาเนนโก ผู้อำนวยการสร้างภาคสนาม เดินทางไปถึงเมืองมาริอูโปลภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงก่อนที่รัสเซียจะเริ่มต้นปูพรมทิ้งระเบิด ซึ่งภาพและเรื่องราวที่พวกเขาบันทึกได้นั้นรวมถึงการเสียชีวิตของเด็กหญิงวัย 4 ขวบ หลุมศพที่เพิ่งขุดขึ้นใหม่ การทิ้งระเบิดที่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งถ่ายทอดความเป็นจริงอันโหดร้ายของยุทธการปิดล้อมโจมตีที่เกิดขึ้น

สารคดี 20 Days in Mariupol ยังได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) สาขาบริการสาธารณะเมื่อปีที่แล้ว และยังคว้ารางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงรางวัลของสมาคมผู้กำกับแห่งอเมริกา (Directors Guild Award)

นอกจากนี้ 20 Days in Mariupol ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 178 ปีของสำนักข่าวเอพีที่ผลงานของสำนักข่าวได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ … เหล่าสาวกหนังสารคดีคงต้องรอลุ้นว่างานประกาศผลรางวัลออสการ์ในวันที่ 10 มี.ค.นี้ จะมีการเรียกชื่อทีมงาน 20 Days in Mariupol ขึ้นรับรางวัลหรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 67)

Tags: , , ,
Back to Top