โบรกประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ” หุ้น บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/67 (ม.ค.-มี.ค.67) ดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/67 (ต.ค.-ธ.ค.66) เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน และยังหนุนด้วยนโยบายฟรีวีซ่าไทย-จีนที่จะเริ่ม 1 มี.ค.67 เชื่อว่าจะส่งผลให้ผลประกอบการ AOT ฟิ้นตัวขึ้นได้ดีอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้ง AOT ยังเดินหน้าขยายสนามบินทั้งสุวรรณภูมิ และดอนเมือง รวมทั้งสนามบินหัวเมืองสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับจำนวนผู่โดยสาร เร่งการเติบโตในระยะยาว แม้ราคาหุ้นตอนนี้ Valuation จะไม่ถูกแล้ว แต่ยังน่าเก็บ โดยการเติบโตของกำไรจะแข็งแกร่งขึ้นหลังโควิด-19 ขณะที่ช่องทางสร้างรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบินก็มีมากขึ้นในอนาคต
นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้น AOT แนวโน้มผลประกอบการจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 2/67 (ม.ค.-มี.ค.67) คาดว่าจะดีกว่าไตรมาส 1/67 (ต.ค.-ธ.ค.66) ที่มีกำไรสุทธิ 4.56 พันล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารทั้งต่างชาติและคนไทยดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ก.พ.67 ทั้งสิ้น 4,385,390 คน เพิ่มขึ้นถึง 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
“ไตรมาส 2 จำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นมากกว่าไตรมาส 1 ผลประโยชน์ตกกับ AOT แน่นอน เพราะอยู่ในช่วงปีใหม่และตรุษจีนต่อเนื่องไปถึงมีนาคมที่จะเปิดฟรีวีซ่าไทยจีน”
ผลการดำเนินงานของ AOT เห็นความแข็งแกร่งขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/67 โดยมีกำไรสุทธิ 4.56 พันล้านบาท (+1,231.2% YoY, +33.0% QoQ) คิดเป็น 20% ของประมาณการกำไรเต็มปีของเรา ผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ กลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม กำไรในไตรมาส 1/67 ยังต่ำกว่าประมาณการของเรา 13.2% และต่ำกว่า consensus 10.0% โดยสาเหตุสำคัญ คือรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินต่ำกว่าคาด (ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าเช่าสำนักงานในส่วนของพื้นที่เช่า)
รายได้ในไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 1.57 หมื่นล้านบาท (+78.0% YoY, +2.3% QoQ) มาจากส่วนที่เกี่ยวกับการบิน 45% และส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการบิน 55% (จากไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 49% และ 51% ตามลำดับ) จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 28.9 ล้านคน (+25.5% YoY) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 16.9 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ 12 ล้านคน
ในระยะต่อไป เรามั่นใจว่าผลประกอบการของ AOT จะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกสองสามปีข้างหน้า เพราะธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ไม่มีข้อจำกัดด้านการเดินทางเหมือนช่วงที่ COVID-19 ระบาด เราคิดว่าพัฒนาการด้านบวกจากการกลับมาเปิดประเทศจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นผลประกอบการของ AOT ในอีกสองสามปีข้างหน้า รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แรงขึ้น ซึ่งหนุนโดยการเปิดฟรีวีซ่าระหว่างนักท่องเที่ยวจีนและไทยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567
ดังนั้น ยังคงมองบวกกับแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของทั้งธุรกิจที่เกี่ยวกับการบิน และไม่เกี่ยวกับการบิน โดยเรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 67 เอาไว้ที่ 2.27 หมื่นล้านบาท และ ปี FY68F ที่ 2.72 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ยังคงแนะ “ซื้อ” ประเมินราคาเป้าหมาย DCF ที่ 79.00 บาท (ใช้ WACC ที่ 9% และ TG ที่ 3%)
บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำ “ซื้อ” หุ้น AOT จากการฟื้นตัวของผลประกอบการตามดีมานด์การเดินทางที่แข็งแกร่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน) คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 20% yoy ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.67 จะช่วยหนุนให้กำไรในงวดไตรมาส 2/67 (ม.ค.-มี.ค.67) เติบโตต่อเนื่องทั้ง qoq และ yoy
ขณะที่ราคาหุ้น AOT ปัจจุบันคิดเป็น P/E ปี 67 ที่ 34x ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดระบาด
ประเด็นสำคัญที่ได้จากการประชุมนักวิเคราะห์ ได้แก่ 1) ต้นทุนเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/67 ค่าเสื่อมราคาที่เกี่ยวข้องกับ SAT-1 เพิ่มขึ้นเป็น 580 ล้านบาทต่อไตรมาส (เดิมคาดไว้เพียง 300 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งตั้งสำรองจ่ายโบนัสพนักงาน
และ 2) AOT ยังคงประมาณการจำนวนผู้โดยสารเต็มปี 67 ที่ 120 ล้านคน (ต่ำกว่าประมาณการของเราที่ 127 ล้านคน แต่เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านคนในปี 66 โดยขยับเข้าใกล้ 142 ล้านคนในปี 62) ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะผู้โดยสารชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาเป็นเฉลี่ย 27,000 คน/วัน (จากเพียง 13,000 คน/วันก่อนจะมีมาตรการยกเว้นวีซ่าไทย-จีน)
AOT มีแผนเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของสนามบินจาก 117 ล้านคนต่อปี เป็น 200 ล้านคนต่อปีภายในปี 73 ได้แก่
1. แผนใช้งบ 1.07 หมื่นล้านบาทในปี 67 สร้าง runway ที่ 3 (6.4 พันล้านบาท) ของสนามบินสุวรรณภูมิและโครงการอื่นๆ
2. ส่วนต่อขยายทางทิศตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิกำหนด COD ปี 70 ทำให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านคน จาก 60 ล้านคน
3. ขยายสนามบินดอนเมือง (เฟส 3) กำหนดเสร็จในปี 73 ทำให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านคนจาก 30 ล้านคน
4. รับโอนสนามบิน 3 แห่งจากกรมท่าอากาศยาน อาจเกิดขึ้นในปี 67
5. จะจัดเปิดประมูลสัญญาให้บริการภาคพื้นดินที่สนามบินสุวรรณภูมิในปี 67
ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านสนามบินของ AOT ระหว่างวันที่ 1-10 ก.พ.เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 26% yoy เรายังคงมองบวกกับแนวโน้มระยะยาวของ AOT เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนรายได้จากสัมปทาน และ PSC จึงยังแนะ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 67 ที่ 75 บาท (DCF,WACC ที่ 8%) ส่วนความเสี่ยงหลัก ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างขาติอ่อนแอลง และงบลงทุนสูงกว่าคาด
ส่วน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ให้ราคาเป้าหมาย AOT อิง DCF ที่ 77 บาท (WACC 7.0%, Tg 3.0%) คิดเป็น PE ปี 68 ที่ 37 เท่า ปัจจุบัน ซื้อขายที่ Forward P/E ปี 68 ที่ 30 เท่า ต่ำกว่า P/E ย้อนหลังระดับที่ 39 เท่าในปี 62 และ 45 เท่าในปี 61
โมเมนตัมการฟื้นตัวของกำไรคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปตลอดปี 67-68 ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรายได้สัมปทานสูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือหมดอายุ ผลประกอบการที่น่าผิดหวังในไตรมาส 1/67 (ต.ค.-ธ.ค.66) ต่ำกว่าประมาณการของตลาดไป 9% ถือเป็นโอกาสเข้าสะสมหุ้น เพราะ AOT จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวจีน (73% ในเดือน ก.พ.67 เทียบกับ ก.พ.62) ดาวน์ไซด์ ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงและการยกเลิกร้านค้าปลอดภาษีขาเข้าตามที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อสนับสนุนร้านค้าปลีกในท้องถิ่น
ด้านต้นทุนของ AOT คาดว่าจะทรงตัวตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป เนื่องจากสวัสดิการพนักงานและค่าเสื่อมราคา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากเทอร์มินัล SAT1 มีแนวโน้มที่จะถึงจุดสูงสุด เราประมาณการค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นจาก SAT1 ที่ 585 ลบ./ไตรมาส ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนมากที่ 300 ลบ. เราประเมินรายได้เติบโตจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของผู้โดยสารระหว่างประเทศ (การฟื้นตัวของปริมาณการจราจร84% เทียบกับระดับปีงบประมาณ 2019) และการปรับ PSC ที่จะเกิดขึ้นในปี 68 (780 บาทต่อผู้โดยสารระหว่างประเทศจากตอนนี้ 700 บาท) เพื่อชดเชยแรงกดดันด้านต้นทุน
รายได้ระยะยาวจะได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการดำเนินงานที่สูงขึ้นและการขยายสนามบิน คาดว่าการรองรับผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปีละ 116 ล้านคน เป็น 173 ล้านคนภายในปี 71 ด้วยงบลงทุน 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะมี EBITDA มากพอนับจากปี 67 เป็นต้นไปเพื่อใช้สนับสนุนโครงการเหล่านี้โดยไม่ต้องใช้แหล่งเงินกู้
ขณะที่ AOT จะได้เข้าบริหารสนามบินอีก 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ ภายในปลายปี 67 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก CAAT
บล.เมย์แบงก์ มองว่า แม้ Valuation ไม่ถูก แต่ก็ยังน่าเก็บ โดยการเติบโตของกำไรจะแข็งแกร่งขึ้นหลังโควิด-19 ระบาด ขณะที่มีช่องทางสร้างรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบินมากขึ้นในอนาคต แต่ P/E ของ AOT ที่ 30 เท่าในปี 68 ก็น่าสนใจ โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 38-45 เท่าในช่วงก่อนเกิดโควิดในปี 61-63 เราเชื่อว่ามีราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยลบส่วนใหญ่ไปแล้ว อาทิ ผลประกอบการไตรมาสไตรมาส 1/67 ที่น่าผิดหวัง ความกังวลเกี่ยวกับการยกเลิกสินค้าปลอดภาษีขาเข้า และมาตรการช่วยเหลือผู้รับสัมปทาน เช่น การขยายเงื่อนไขการชำระเงินและการยกเว้นค่าธรรมเนียม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 67)
Tags: AOT, SCOOP, ท่าอากาศยานไทย, ปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์