บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) เปิดเผยรายงานความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เกี่ยวกับออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 3 (ใบสำคัญแสดงสิทธิ MORE-W3)
IFA ระบุว่า จากการพิจารณาข้อดีและข้อเสีย และความเสี่ยง ที่ปรึกษาฯ จึงมีความเห็นว่าผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติการทำธุรกรรมการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน เนื่องจากแผนการใช้เงินลงทุนที่ได้รับจากการออกหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่สามารถประเมินความสมเหตุสมผล ความเป็นไปได้ของโครงการ และความคุ้มค่าในการลงทุนได้อย่างชัดเจน จากข้อจำกัดในด้านการเปิดเผยช้อมูลต่าง ๆ ภายใตัสัญญารักษาความลับ (Non-Disclosure Agreement) ที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน อาทิ รายชื่อผู้ถือหุ้น ข้อมูลงบการเงิน และแหล่งที่มาของรายได้ของบริษัทเป้าหมาย เป็นตัน
รวมถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจมีต่อผู้ถือหุ้นจาก Dilution Effect ทั้งในด้าน 1. Control Dilution 2. Price Dilution และ 3. EPS Dilution จากการเสนอขายหุ้นลามัญ ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 2 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ด้วยระดับราคา 0.05 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราดาตลาดเฉลี่ยก่อนการเสนอขาย ที่เท่ากับ 0.17 บาทต่อหุ้น และความเสี่ยงจากการใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.67 ได้พิจารณาและให้ความเห็นต่อรายงานความเห็นฉบับสมบูรณ์ของ IFA แล้ว คณะกรรมการตรวจสอบยังมีความเห็นว่าการทำรายการดังกล่าวมีความเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทและผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดที่ไม่สามารถระบุจำนวนเงินที่จะได้รับอย่างแน่นอนของวิธีการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ในครั้งนี้เป็นอย่างดี แต่การทำรายการดังกล่าวเป็นความประสงค์และข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ต้องการให้บริษัทหาช่องทางธุรกิจใหม่ หรือดำเนินการใดๆที่จะสร้างผลตอบแทนเพื่อสะท้อนมายังราคาหุ้น หรือสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น
รวมถึงประเด็นเรื่องคดีความฟ้องร้องของหน่วยงานทางการต่อกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อดีตผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มบุคคลที่มีประเด็นดังกล่าวนั้นมีจำนวนไม่ถึง 100 คน เมื่อเทียบสัดส่วนคิดเป็นจำนวนไม่ถึง 1% ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนมากกว่า 10,000 คน
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่าการทำรายการดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ถือหุ้นอื่นทุกรายที่มีความพร้อมทางด้านเงินทุน เข้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัท อีกทั้งการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในลักษณะ RO เป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบนเงื่อนไขเดียวกันแก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายอย่างเท่าเทียม ผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจมีต่อผู้ถือหุ้นจาก Dilution Effect เป็นกลไกที่เกิดขึ้นทำให้โครงสร้างองค์กรและ/หรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
และการทำรายการดังกล่าวยังเพิ่มโอกาสให้บริษัทได้ดำเนินธุรกิจธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม แบบ OEM หรือ ODM เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในด้านต่างๆ ซึ่งจะสามารถต่อยอดธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ๆ ได้ในอนาคต เป็นการเปิดช่องทางการหารายได้ให้หลากหลายเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างยั่งยืน
คณะกรรมการตรวจสอบ จึงยังคงมีความเห็นไม่แตกต่างไปจากคณะกรรมการบริษัทที่มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขาย RO และการออก MORE-W3 โดยจะเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาภายใต้เงื่อนไขกำหนดเวลาที่ต้องดำเนินการให้ทันเวลา เนื่องจากผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบด้านราคาหุ้น ณ วันปิดสมุด (record date) ไปเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ มติการทำรายการในครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.66 และได้กำหนด record date ในวันที่ 26 ธ.ค.66 ซึ่งตามกฎหมายบริษัทต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังวันที่กำหนด record date ซึ่งการพิจารณาอนุมัติทำรายการหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ถือหุ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 67)
Tags: MORE, มอร์ รีเทิร์น, หุ้นไทย