นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล one31 และ GMM25 กล่าวว่า ความอยู่รอดและการปรับตัวของช่องทีวีดิจิทัล ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนดูทีวีน้อยลงจากผลกระทบ Digital Disruption จากการถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มยอดฮิต ทั้ง Youtube, Tiktok, instragram และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง สื่อใหม่ๆ เหล่านี้เข้ามาแย่งความสนใจจากผู้ชม โดยเฉพาะเมื่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไปหลังโควิด-19
สิ่งที่ทำให้ ONEE ได้รับความโชคดี คือ การวางตำแหน่งตัวเองเป็น “Content Creator” ไม่ใช่แค่ช่องทีวี ดังนั้น แม้คนดูทีวีน้อยลง แต่คนก็ยังดูคอนเทนต์ เพราะฉะนั้น Digital Disrupt จึงกลายเป็นโอกาสให้ ONEE ผลิตคอนเทนต์ออกสู่สายตาประชาชนได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งอนาคตของทีวีดิจิทัลไทยต่อจากนี้ ละครที่ตั้งใจทำมาเพื่อฉายแค่ในโทรทัศน์ก็จะน้อยลง แต่จะไปแข่งกันในแพลตฟอร์มอื่นๆ มากขึ้น
“การทำสื่อจะต้องมีการปรับตัวให้เหมาะกับยุคสมัยที่ผู้ชมเลือกดูคอนเทนต์แบบกระจายไปตามแพลตฟอร์มสื่อต่างๆ การผลิตคอนเทนต์จึงต้องทำให้ตอบโจทย์มากกว่าการรับชมแค่หน้าจอทีวี พร้อมพัฒนา และต่อยอดสื่อใหม่ๆให้เข้าถึงคนที่หลากหลาย” นายถกลเกียรติ กล่าว
สิ่งที่ ONEE เผชิญอยู่ไม่ใช่แค่คนดูทีวีน้อยลง แต่ยังต้องรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่ผันผวน ส่งผลต่อแนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาทำให้เกิดความไม่แน่นอน ซึ่งนายถกลเกียรติ ย้ำว่า ONEE ไม่ใช่แค่ช่องทีวี แต่เป็น “Content Creator” ที่ทำธุรกิจทีวีด้วย เพราะบริษัทเน้นสร้างคอนเทนต์ที่ผู้คนชื่นชอบ เพื่อนำไปต่อยอดสร้างรายได้หลากหลายช่องทาง เมื่อคนชอบคอนเทนต์ก็จะชื่นชอบดารานักแสดงด้วย นำไปสู่รายได้จากการบริหารศิลปิน เช่น การจัดคอนเสิร์ต, อีเวนต์, แฟนมีตติ้ง เป็นต้น
หากไปดูสัดส่วนของกำไรและรายได้แรกเริ่มของ ONEE ในปี 58 รายได้หลักถึง 95% มาจากเม็ดเงินโฆษณาทีวี แต่ตอนนี้ลดเหลือไม่ถึง 50% ที่มามาจากโฆษณาทีวี และสิ่งที่น่าสังเกตคือ ทำไมผลการดำเนินงานของ ONEE ถึงได้เติบโตขึ้นจากในอดีตมาก ก็หมายความว่า ONEE สามารถหารายได้จากหลากหลายช่องทางที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน
สำหรับไฮไลท์ในปี 67 นายถกลเกียรติ กล่าวว่า ONEE จะรุกตลาดมากขึ้นด้วยการผลักดันการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน “oneD” ซึ่งเป็นสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่สามารถดูรายการของทั้งช่อง one31 และ GMM25 หรือนำละครที่ฉายไปแล้วมาให้ดูย้อนหลัง ซึ่งขณะที่มียอดสมาชิก 18 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งประเทศ ในปี 67 จะโฟกัส oneD ให้เป็นแอปพลิเคชันที่มีคอนเทนต์ที่คนจะอยากเข้ามาดู จุดแรกคือคอนเทนต์ซีรีส์ที่เรียกว่า “oneD Original” เข้ามาเสริมทัพเพื่อสร้างน่าสนใจ และต่อยอดฐานผู้ใช้งาน
“ก่อนหน้าเราทำละครโทรทัศน์มุ่งเน้นโฟกัสให้คนมาดูที่โทรทัศน์ ถ้าดูไม่ทันก็ไปดูย้อนหลัง แต่ oneD Original ก็มีฉายในโทรทัศน์เหมือนกัน แต่เราจะมุ่งเน้นโฟกัสให้คนมาดูที่แอปพลิเคชันแบบ Anytime, anywhere” นายถกลเกียรติ กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทจะเดินหน้ากลยุทธ์ที่ ONEE ใช้ในการทำธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง คือ พลัง “แฟนด้อม” โดยเฉพาะซีรีส์วัยรุ่นของทาง GMMTV ที่ได้กลุ่มแฟนคลับนักแสดงที่ช่วยกันส่งเสียงทางโซเชียลทำให้ซีรีส์นั้นๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ยอมรับว่าคนดูกระจายตัวไปหลายกลุ่ เพราะแต่ละด้อมก็จะมีกลุ่มเป้าหมายของใครของมันอย่างชัดเจน ดารานักแสดงที่ดังมากในหมู่คนกลุ่มหนึ่ง ก็อาจจะไม่เป็นที่รู้จักของคนอีกกลุ่มก็ได้ ทำให้กลยุทธ์การสร้างแฟนด้อมจะต้องมีการ Target segment อย่างชัดเจน
ควบคู่ไปกับการทำ “idol marketing” ของช่อง one31 ด้วยการปั้นศิลปินนักแสดงหน้าใหม่ให้เป็นไอดอล ส่งเข้าวงการไปแสดงละครหรือซีรีย์ ผลิตคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับความสามารถและความสมัครใจของไอดอลคนนั้นๆ โดยไม่มีการบังคับ เก่งด้านไหนก็สร้างคอมมูนิตี้ในด้านนั้น ส่วนไอดอลที่มีอยู่ในสังกัดก็จะพยายามต่อยอดไปเรื่อยๆ พร้อมกับต่อยอดหารายได้ด้วยการขายสินค้า (Merchandise) จากคอนเทนต์ เช่น การแตกไลน์ธุรกิจเครื่องดื่ม Functional drink “เป็นต่อ ดริ๊งค์” ที่นำซิตคอมยอดฮิตเรื่อง “เป็นต่อ” มาพัฒนาต่อยอด เป็นต้น
ONEE ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มซีเนียร์เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ ผ่านการทำ Senior Marketing หลังจากในปี 66 ประสบความสำเร็จจากการจัดคอนเสิร์ต The Golden Song Concert เหล่าลูกหลานได้พาพ่อแม่ผู้ใหญ่ในบ้านมารับชมคอนเสิร์ตกันอย่างหนาแน่น ย้อนรำลึกความหลัง สร้างความสุขให้กับผู้ใหญ่ผู้สูงวัย ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มแฟนด้อมที่ ONEE เห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ไม่เฉพาะวัยรุ่น
นายถกลเกียรติ กล่าวว่า แม้กลุ่มซีเนียร์จะไม่ได้เสียงดังหรือเป็นเทรนด์ฮิตในโซเชียลมากมายนัก แต่เป็น Community ที่แข็งแรงมาก เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่ทุกคนมองกลับ คือ ครอบครัว และ Relationship ภายในครอบครัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ ONEE สามารถต่อยอดมาได้ถูกทาง
ซีอีโอ ONEE ยังกล่าวถึงแผนรับมือของช่อง one31 ในกรณีใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดลงในปี 72 ว่า ขึ้นอยู่กับกฎกติกาที่กสทช.จะออกมาในภายภาคหน้า แต่ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร ก็ขอให้กฎกติกานั้นสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละยุคด้วย
“ผมเรียกทีวีว่าสื่อของชาตินะ เพราะช่องทีวีดิจิทัลแทบจะเป็นสื่อเดียวที่ต้องมี License ต้องตรวจสอบ ต้องมีการเซ็นเซอร์ตามที่กฎกติกากำหนด เพราะฉะนั้นกฎกติกาที่ออกมา จำเป็นมากที่จะต้องสอดคล้องกับแต่ละยุค ถ้าเกิดพูดถึงในอีก 6-7 ปีข้างหน้า ก็ต้องดูว่ามันจะสอดคล้องกันยังไง” นายถกลเกียรติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.พ. 67)
Tags: GMM25, ONE31, ONEE, ถกลเกียรติ วีรวรรณ, ทีวีดิจิทัล, เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์