นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในโอกาสครบรอบ 30 ปี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ว่า ปัจจุบันโลกขับเคลื่อนอยู่บนหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ระดับชุมชนและทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติของทุกประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งเป็นภัยความเสี่ยงอันดับ 1 ของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศไทยภายในปี 2593 และ 2608 ตามลำดับ
โดยรัฐบาลไทย มุ่งสนับสนุนกลไกและนโยบายต่างๆ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการให้ความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และหาแนวทางขยายตลาดต่างประเทศ
ตลอดจนดึงดูดบริษัทชั้นนำของโลกในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้เข้ามาลงทุน เช่น ดาต้าเซนเตอร์ อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) พลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพิ่มพูนทักษะฝีมือแรงงานไทย
รมช.คลัง กล่าวว่า การที่ประเทศจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้สำเร็จ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการออกกฎหมาย หรือนโยบายจากภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนผู้ประกอบการในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น สินค้าหัตถกรรม สินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงการคลัง จึงพร้อมสนับสนุนหน่วยงานในการกำกับดูแล รวมถึง EXIM BANK ให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ในการสร้างนักรบเศรษฐกิจไทยในเวทีโลกที่แข่งขันได้ ทั้งในรูปแบบการเป็นผู้ส่งออกเอง หรือเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain การส่งออก
“วันนี้ ต้องเร่งยกระดับเป็น Green Supply Chain เพื่อให้เกิดระบบนิเวศสีเขียว ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยคำนึงถึง ESG สามารถส่งมอบสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ใหม่ๆ ภายใต้กติกาการค้าของโลกยุคใหม่ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยให้เติบโต และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนและความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ภายนอกในอนาคต เพื่อมุ่งสู่ความเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ร่วมกัน” นายจุลพันธ์
ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อทุกภาคส่วนทุกวันนี้ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกเปลี่ยนผ่านจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) เข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) นำไปสู่การเกิดภัยธรรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจึงต้องเร่งเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจสีเขียว พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามเป้าหมาย SDGs และเป้าหมายประเทศไทยสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังปล่อยคาร์บอนสูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย โดยอยู่ในระดับ 3.78 ตันคาร์บอน/คน/ปี สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยมูลค่าส่งออกของไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีไม่มากนัก อยู่ในสัดส่วนเพียง 7.6% ของการส่งออกทั้งหมด ทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งปรับตัวรับมือกับมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่มีมากถึง 18,000 ฉบับ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก และปรับตัวทางธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากธุรกิจที่คำนึงถึง ESG มีการเติบโตของรายได้และกำไรมากกว่าธุรกิจทั่วไปกว่า 2 เท่าตัว
EXIM BANK จึงร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่ออนาคตของประเทศไทยและโลกที่ยั่งยืน ภายใต้บทบาท Green Development Bank ด้วยกลยุทธ์ “Greenovation” ที่จะสร้าง Green Supply Chain ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Greenomics)
นายรักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK พร้อมพัฒนา “Greenovation” นวัตกรรมการเงินสีเขียว ดูแลการปล่อยคาร์บอนขององค์กร และผู้ประกอบการไทยใน Scope 1-2-3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน และทางอ้อมอื่นๆ จากการดำเนินงานขององค์กร) โดยต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเป้าหมายสู่อนาคต (Future Industries) อาทิ พลังงานหมุนเวียน EV เคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและประมงแปรรูป- ธุรกิจบริการ และ Soft Power อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต
โดยจะดำเนินการควบคู่กับการสร้างผู้ส่งออกไทย โดยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้าน Climate Finance ได้แก่ EXIM Green Goal ส่งเสริมให้ SMEs ตั้งเป้าหมาย Green ให้ชัดเจนและพร้อมเข้าร่วม Green Supply Chain โดยเติมความรู้สีเขียว เติมโอกาสสีเขียว และเติมเงินทุนสีเขียว ด้วยผลิตภัณฑ์ประเภท Green ต่างๆ ของ EXIM BANK พร้อมสิทธิประโยชน์และโปรโมชันพิเศษ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ที่ธุรกิจทุกระดับเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนในตลาดการค้าโลก ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ผู้บริโภค และกติกาการค้าโลกยุคใหม่ โดย EXIM BANK ตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปีและ 15 ปีตามลำดับ โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 67)
Tags: EXIM BANK, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, รักษ์ วรกิจโภคาทร, เศรษฐกิจโลก