นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยภายหลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่ง ว่า ภารกิจก้าวต่อไปของเอสซีจี จะเดินหน้าสร้างสังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อรับมือกับอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างมาก กระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม การดำรงชีวิตของผู้คน และเศรษฐกิจโลก ให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลกที่ผู้บริโภคต่างต้องการสินค้า บริการ โซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยกู้โลก จึงนำมาสู่โจทย์หลักของเอสซีจีต่อจากนี้ ที่จะมุ่งสร้างสังคม Net Zero ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมกรีน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือแนวคิด “Passion for Inclusive Green Growth” ผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ประกอบด้วย
1. องค์กรคล่องตัว ยืดหยุ่น (Agile Organization) ทรานส์ฟอร์มโครงสร้าง สร้างความคล่องตัว ดันธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง เพื่อขยายขีดความสามารถของแต่ละธุรกิจให้พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างทันท่วงที และความผันผวนของสถานการณ์โลก ประกอบด้วยธุรกิจ “เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน” ธุรกิจวัสดุและโซลูชันก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง”ธุรกิจนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง และโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัยที่ดีกว่า “เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล” ธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัยระดับอาเซียน “เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC” ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ครบวงจรระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืน
“เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่” ธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจรที่กำลังขยายไปในอาเซียน โดยก่อนหน้านี้ได้ผลักดันธุรกิจในเอสซีจีที่มีศักยภาพสูง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้วอย่างบมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ผู้นำบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน บริษัทเอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดีโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนครบวงจรรายใหญ่สุดในอาเซียน และบริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD ผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรระดับอาเซียน นอกจากนั้นยังมุ่งสร้างการเติบโตด้วยการลงทุน (Investment & Holding) รวมทั้ง เทคโนโลยีขั้นสูงและดิจิทัล (Deep Technology & Digital)
2. นวัตกรรมกรีน (Green Innovations) เร่งพัฒนานวัตกรรม โซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่ต้องการสูงของตลาดโลก ให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสังคม Net Zero เช่น นวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร พร้อมขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระดับโลกเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนอาทิ Norner AS ศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสติก ประเทศนอร์เวย์ และ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยตั้งเป้ารายได้จากนวัตกรรมรักษ์โลก SCG Green Choice ร้อยละ 67 จากยอดขายทั้งหมด ภายในปี 2573 พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการผลิตคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 (Net Zero 2050) ปัจจุบันคืบหน้าตามแผน
3. องค์กรแห่งโอกาส สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ (Organization of Possibilities) เปิดโอกาสให้พนักงานปล่อยแสงสร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านโครงการสตาร์ทอัพในเอสซีจี อาทิ พัฒนาแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ Prompt Plus ยกระดับการบริหารจัดการต้นทุนและสต๊อกสินค้าให้แก่ร้านค้ารายย่อยกว่า 10,000 รายในเครือข่ายเอสซีจี การบ่มเพาะสตาร์ทอัพในโครงการ ZERO TO ONE by SCG สร้างโอกาสให้พนักงานก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ ปั้นธุรกิจศักยภาพสูงมากมาย เช่น ‘Dezpax.com’ แพลตฟอร์มออนไลน์แพคเกจจิ้งครบวงจรรายแรกในไทย สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ฟู้ดเดลิเวอรี่ และคาเฟ่ ในการสร้างแพคเกจจิ้งเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในจำนวนน้อย ราคาเหมาะสมกับ SMEs ซึ่งเติบโตกว่าร้อยละ 300 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับจากผู้ประกอบการกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ และ Urbanice แพลตฟอร์มสื่อสาร บริหารจัดการ สำหรับชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียมและหมู่บ้าน เพื่อการอยู่อาศัยแบบสมาร์ท สะดวก และมีความสุข มีผู้ใช้งานกว่า 250,000 คน ใน 850 โครงการทั่วประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ตอบเทรนด์อนาคต ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนภายนอกเอสซีจี เช่น NocNoc ศูนย์รวมสินค้าและบริการเรื่องบ้านออนไลน์ ที่กำลังขยายธุรกิจทั้งในไทยและอาเซียน
4. ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Society) ชวนทุกคนในห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปพร้อมกัน ด้วยการผลักดันสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เพื่อเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จ ข้อจำกัดในการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการเกษตรคาร์บอนต่ำ เช่น การทำนาเปียกสลับแห้งและการปลูกพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน พร้อมทั้งสร้างเครือข่าย Big Brothers for SMEs ใน จ.สระบุรี เพื่อส่งต่อความรู้ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งด้านพลังงานสะอาด นวัตกรรมรักษ์โลก การหาแหล่งเงินทุน ตลอดจนพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ 50,000 คน ในปี 2573 ยกระดับแรงงานไทย มีอาชีพมั่นคง ลดเหลื่อมล้ำ เช่น ช่างติดตั้งและทำความสะอาดหลังคาโซลาร์ และนักเขียนแบบโดยใช้โปรแกรม BIM (Building Information Modelling) รวมทั้งจับมือกับชุมชน ดูแลระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านโครงการรักษ์ภูผามหานที มุ่งสู่เป้าหมายปลูกต้นไม้ 1.5 ล้านไร่ในปี 2593 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งต่อความยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป
“เอสซีจี พร้อมนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี มาเร่งพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบาย ปลอดภัย ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ เพื่อให้ทุกคนทั้งอาเซียนและระดับโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีบนสังคม Net Zero” นายธรรมศักดิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 67)
Tags: SCC, ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม, ปูนซิเมนต์ไทย, หุ้นไทย