สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยยังน่ากังวล โดยตัวเลขล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของ GDP และจากการศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่าย และทัศนคติทางการเงินของคนรุ่นใหม่ หรือ Gen Z มีแนวโน้มเป็นหนี้มากขึ้นในอนาคต และไม่คำนึงถึงการวางแผนการเงินเพื่ออนาคตมากนัก นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังนิยมซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย แบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง
“อินโฟเควสท์” ได้พูดคุยกับ น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เกี่ยวกับสถานการณ์ก่อหนี้คนรุ่นใหม่ (คนอายุ 20-29 ปี) ว่า จากข้อมูลเครดิตบูโร พบคนรุ่นใหม่มีหนี้ในระบบรวม 1.1 ล้านล้านบาท เทียบเป็น 6.6% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากปี 56 ถึง 46.6%
คนรุ่นใหม่ ยังนิยมซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยแบบ “ซื้อก่อน จ่ายที่หลัง” จากการสำรวจของสภาพัฒน์ ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด (Research Centre for Social and Business Development Co., Ltd.) หรือ SAB ในประเด็นแนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later (BNPL)” พบว่า 50% ของกลุ่ม Gen Z (15-27 ปี) มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท เป็นกลุ่มที่ใช้บริการ BNPL มากที่สุด และส่วนใหญ่มักใช้จ่ายไปกับสินค้าจำพวกเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กรุ่นใหม่ที่อาจก่อหนี้เกินตัว
การก่อหนี้ในคนรุ่นใหม่ ส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยม และทัศนคติใช้จ่ายเพื่อความสุขความพอใจให้กับตนเอง หรือ “ของมันต้องมี” ขณะเดียวกัน นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (E-commerce) ซึ่งทำให้จับจ่ายใช้สอยได้ง่ายขึ้น เป็นพฤติกรรมที่มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และหากขาดการไตร่ตรองก่อนใช้จ่าย อาจนำไปสู่การก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นในอนาคต
ข้อมูลข้างต้น สอดคล้องกับที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการออมเงินและการใช้จ่ายของเด็กรุ่นใหม่ (Gen Z) จำนวน 802 ตัวอย่าง (ทั่วประเทศ) วันที่สำรวจ 6-15 ม.ค. 67 ซึ่งส่วนใหญ่กำลังศึกษาถึง 92.4% ส่วนอีก 5.8% ทั้งศึกษาและทำงาน และ 1.9% ทำงานแล้ว พบว่า 65% ไม่มีทั้งการออมและการลงทุน
อย่างไรก็ดี พบว่า 58.2% มีค่าใช้จ่ายเท่ากับรายได้ และอีก 24.7% ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งในส่วนของกลุ่มที่มีรายจ่ายมากกว่า จะแก้ไขปัญหาด้วยการขอเงินผู้ปกครอง ยืมเงินเพื่อน ทำงานพิเศษ ขายสินทรัพย์ส่วนตัว กู้ยืมทั้งในและนอกระบบ ส่งผลให้มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 10,708 บาท และในระบบ รวมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เฉลี่ย 41,185 บาท
- Financial literacy สำคัญอย่างไร?
จากพฤติกรรมการใช้จ่าย และทัศนคติทางการเงินของคนรุ่นใหม่นั้น สภาพัฒน์ มองว่า อาจต้องมีการให้ความสำคัญถึงการส่งเสริม Financial literacy ตั้งแต่วัยเด็ก และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วยวัย เพื่อสร้างรากฐานที่ดี ให้คนรุ่นใหม่มีการวางแผนเตรียมความพร้อมในการดำเนินชีวิตในอนาคตต่อไป เช่น วัยเด็กและวัยเรียน ต้องบรรจุหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมการเงินที่ดี อาทิ การเก็บออม
ขณะที่วัยทำงาน ซึ่งเป็นวัยที่มีรายได้ ควรสร้างการตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินในยามฉุกเฉิน และเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณอายุ เป็นต้น
- สร้างภูมิคุ้มกัน แก้กับดักหนี้ครัวเรือน
นายทัตพล เมธีวิริยาภรณ์ อดีตผู้ก่อตั้ง MONEY CLASS มองว่า นิยามของ “ความรู้ทางการเงิน” คือ การเรียนรู้ใดๆ ก็ตามเพื่อตัดสินใจเรื่องเงิน เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่ต้องรู้เพื่อให้รอดจากการเป็นหนี้ คือ 1. รู้สภาพคล่องตัวเอง 2. รู้เรื่องการจัดการความเสี่ยง และ 3. รู้เรื่องความมั่งคั่ง การลงทุน ส่วนในเด็กเล็กต้องสอน 4 เรื่อง คือ “หาเงิน ใช้เงิน เก็บเงิน ลงทุน”
พร้อมมี 6 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แก้ปัญหาหนี้สินของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย คือการปลูกเมล็ดพันธุ์ให้เด็ก ดังนี้
1. ให้หน่วยงานกลางของภาครัฐที่ทำร่วมกับเอกชน ผลักดัน “หลักสูตรวิชาการเงิน” ในโรงเรียน ซึ่งมองว่าควรเป็นกระทรวงศึกษาธิการ
2. เปิดโอกาสให้โรงเรียนออกแบบหลักสูตรของตัวเองได้ สำหรับผู้เรียนทุกระดับชั้น ทุกโรงเรียน
3. จัดอบรมครูให้เข้าใจจุดประสงค์ของการสอนวิชาการเงิน และส่งเสริมครูให้มีสุขภาพการเงินที่ดี พร้อมมีระบบที่ปรึกษาครูภายในโรงเรียน
4. จัดให้มีการวัดผล “ความรู้การเงิน” ที่เป็นมาตรฐาน และวัดผลครบทั้ง 3 มิติ คือ ผลสอบ, ผลงาน และพฤติกรรม
5. ส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม/ ชมรม/ สังคม สร้างสรรค์เกี่ยวกับการเงิน ในโรงเรียน เพื่อกระตุ้นให้เกิด Money in action ตั้งแต่ในโรงเรียน
6. สอนความรู้การเงินที่ถูกต้องกับผู้ปกครอง เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปสอนลูกได้ และส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยและแลกเปลี่ยนได้ ในระดับครัวเรือน
โดยสรุปจะเห็นได้ว่า คนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมการก่อหนี้เร็วขึ้น ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง และซื้อของฟุ่มเฟือย ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอนาคต และอาจเห็นภาพการก่อหนี้ซ้ำซ้อน หรือการก่อหนี้ใหม่เพื่อไปชำระหนี้เดิม ดังนั้น ทางออกของปัญหาต้องเริ่มที่การปลูกฝังความรู้เรื่องการเงินตั้งแต่วัยเรียน เพื่อให้ในอนาคตเด็กที่เติบโตขึ้นมาสามารถวางแผนทางการเงิน และไม่ติดกับดักหนี้ได้ง่าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 67)
Tags: GEN Z, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., วรวรรณ พลิคามิน, สภาพัฒน์, หนี้ครัวเรือน