หุ้นไทยแนวโน้มดัชนีเช้าแกว่งไซด์เวย์ เกาะติดประชุมดิจิทัลวอลเล็ตบ่ายนี้

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นน่าจะแกว่งไซด์เวย์ หลังเมื่อวานนี้ตลาดหุ้นไทยโดน Sell on fact จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ที่ดีดตัวขึ้นมาและแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปจากเดือนมี.ค.เป็นเดือนพ.ค.

โดยบ่ายวันนี้นักลงทุนรอติดตามการประชุมชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ หลังจากมีข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.วินัยการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องติดตาม รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าค่อนข้างแรง ต้องติดตามต่อว่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เงินทุนไหลออกหรือไม่

ขณะที่กลยุทธ์ในการลงทุนวันนี้แนะนำกลุ่มที่ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า อาทิ TU และ THCOM

พร้อมทั้งให้กรอบแนวต้าน 1,404 จุด และแนวรับ 1,380 จุด

 

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

 

– ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (14 ก.พ.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,424.27 จุด เพิ่มขึ้น 151.52 จุด หรือ +0.40%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,000.62 จุด เพิ่มขึ้น 47.45 จุด หรือ +0.96% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,859.15 จุด เพิ่มขึ้น 203.55 จุด หรือ +1.30%

– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวเปิดที่ระดับ 38,017.83 จุด เพิ่มขึ้น 314.51 จุด หรือ +0.83% ส่วนดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ระดับ 15,824.21 จุด ลดลง 55.17 จุด หรือ -0.34%

– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (14 ก.พ.) ที่ 1,385.11 จุด ลดลง 6.62 จุด (-0.48%) มูลค่าซื้อขาย 36,773.49 ล้านบาท

– นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,700.51 ล้านบาท (14 ก.พ.67)

– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1.23 ดอลลาร์ หรือ 1.58% ปิดที่ 76.64 ดอลลาร์/บาร์เรล

– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (14 ก.พ.67) อยู่ที่ 9.33 เหรียญ/บาร์เรล

– เงินบาทเปิด 36.10 แนวโน้มผันผวนทิศทางอ่อนค่า จับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ

– “เศรษฐา” เร่งจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ เจรจากัมพูชาหาข้อสรุป พัฒนาแหล่งปิโตรเลียม 20 ล้านล้านบาทร่วมกัน เปิดทางศึกษาตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เตรียมหารือความร่วมมือฝรั่งเศสและอียู “พลังงาน” เผยแผนพีดีพีฉบับปรับปรุง เตรียมบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้าน ปตท.แนะแยกเจรจากัมพูชาเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วม

– จับตา “เงินบาทอ่อนค่า” ต่อเนื่อง ล่าสุดเฉียด 6% อ่อนค่าเกือบสูงสุดในภูมิภาค หลังตัวเลข เงินเฟ้อสหรัฐสูงเกินคาด หนุน “ดอลลาร์แข็งค่า” ตลาดประเมินโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยอาจช้ากว่าคาด สวนทาง ดอกเบี้ยไทยอาจลดเร็ว “กรุงไทย” ชี้แนวโน้มบาทอ่อนแตะ 37 บาทต่อดอลล์ “ซีไอเอ็มบีไทย” เล็งเงินบาทผันผวนหนัก สัปดาห์หน้า จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ ตอกย้ำเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ “เกียรตินาคินภัทร” หวั่นจีดีพี ไตรมาสแรกทรุดต่อส่งสัญญาณ “Stagnation”

– “7 บลจ.” เดินหน้า เตรียมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้อง “สตาร์ค” เร็วสุด เผยไม่ยอมตกขบวน ล่าสุดวานนี้ “สมาคมบลจ.” เรียกสมาชิกฯ ประชุมด่วน เพื่อเคาะแนวทาง พร้อมหวังปิดช่องว่างกฎหมาย หากยื่นฟ้องแบบกลุ่ม ชี้ทำได้ง่ายทีเดียวจบ หวังปกป้องอุตสาหกรรม

 

หุ้นเด่นวันนี้

 

– BEM (กรุงศรี) ซื้อ เป้า 10.50 บาท เรามีมุมมองบวกจากข่าว กทพ. เตรียมเจรจา BEM ให้เป็นผู้ลงทุนโครงการทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท แลกกับการขยายเวลาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดปี 2578 ออกไป คาดขยายสัญญา 15 ปี จะเพิ่มมูลค่าต่อ BEM 1.50 บาท

– ICHI (คิงส์ฟอร์ด) ซื้อเก็งกำไร ราคาเป้าหมาย IAA Consensus 19.80 บาท แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/66 ลดลง QoQ จากที่เป็นช่วง Low season แต่จะเติบโตได้ YoY ต่อเนื่องจากยอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ดีขึ้น

ส่วนแนวโน้มปี 67 ผู้บริหารคาดรายได้โต +10%YoY เป็น 8.8 พันล้านบาท โดยในช่วง ไตรมาส 1/67-2/67 คาดเห็นกำไรโตได้ทั้ง QoQ, YoY หนุนจากการเข้าสู่ฤดูร้อน ประกอบแรงกดดันราคาน้ำตาลและ PET Resin ที่ปรับลดลง นอกจากนี้ผู้บริหารมองตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในประเทศไทยยังสามารถเติบโต พร้อมทำการตลาดสินค้ากลุ่มอื่นในกลุ่ม Healthy Trend กลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลม รวมถึงธุรกิจรับจ้างผลิต เพื่อเดินหน้าสู่ยอดขาย 1 หมื่นล้านบาท ภายใน 2 ปี (ปี 68) ปัจจุบันอัตราการใช้กำลังผลิตโดยเฉลี่ยยังอยู่ในระดับสูง และมีแผนเพิ่มไลน์การผลิต +13% เป็น 1,700 ล้านขวด ในช่วงไตรมาส 4/67- ไตรมาส 1/68 ทั้งนี้ตลาดคาดกำไรสุทธิปี 66-67 ที่ 1.07 พันล้านบาท +66%YoY และ 1.15 พันล้านบาท +8%YoY

– CPAXT (ลิเบอเรเตอร์) ซื้อ ราคาเป้าหมาย 33.00 บาท รายงานกำไรไตรมาส 4/66 ที่ 3,282 ล้านบาท ดีกว่าตลาดคาด 8% จากยอดขายที่ดีจากการเข้าสู่ช่วง High Season ผสานกับดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับลดลง โดยคาดภาพรวมไตรมาส 1/67 ยังขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคบริโภคที่ฟื้นตัว และภาครัฐฯมีการออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ผ่านโครงการ Easy E-Receipt ซึ่งเป็นบวกเพิ่มเติมต่อยอดซื้อมากยิ่งขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 67)

Tags: , , ,
Back to Top