สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า ข้อเสนอแนะของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่ให้หยุดยิงในยูเครนเพื่อพักรบเป็นการชั่วคราว ได้ถูกปฏิเสธโดยสหรัฐ หลังจากเจรจาผ่านคนกลาง โดยฝั่งสหรัฐแจ้งว่าการเจรจาควรมียูเครนร่วมด้วย
การปฏิเสธของแผนการนายปูตินหมายความว่า ยุโรปกำลังเข้าสู่ปีที่ 3 ของความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นการแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย ซึ่งเป็นสองมหาอำนาจนิวเคลียร์ของโลก มีความห่างเหินกันมากเพียงใด
แหล่งข่าวรัสเซียกล่าวว่า ในปี 2566 นายปูตินได้ติดต่อไปยังสหรัฐผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งแบบเปิดเผยและแบบเงียบ ๆ เป็นการส่วนตัว รวมถึงผ่านตัวกลาง เช่น พันธมิตรชาติอาหรับของรัสเซียในตะวันออกกลาง และอื่น ๆ โดยนายปูตินต้องการแจ้งว่ายินดีที่จะพิจารณาการพักรบกับยูเครน
นายปูตินเสนอแนะให้หยุดยิงที่แนวหน้าบริเวณพรมแดน แต่จะไม่ส่งคืนดินแดนใด ๆ ที่รัสเซียยึดครองให้กับยูเครน ซึ่งเจ้าหน้าที่บางคนในทำเนียบเครมลินมองว่าข้อเสนอนี้เป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการบรรลุสันติภาพในรูปแบบหนึ่ง
“การติดต่อกับฝั่งอเมริกันนั้นไม่ได้ผลลัพธ์อะไรเลย” แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ เกี่ยวกับการหารือในช่วงปลายปี 2566 และช่วงต้นปี 2567
แหล่งข่าวรัสเซียอีกรายหนึ่งกล่าวว่า สหรัฐได้แจ้งไปยังรัสเซียว่า การเจรจาจะไม่เกิดขึ้นนอกเสียจากว่ายูเครนจะมีส่วนร่วมด้วย
รายงานระบุว่า การติดต่อดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ พยายามกดดันสภาคองเกรสมาเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อให้อนุมัติความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กับยูเครน แต่ถูกต่อต้านจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ตัวเต็งตัวแทนพรรครีพับลิกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2567
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากฝั่งสหรัฐ ปฏิเสธว่าไม่เคยมีการเจรจาอย่างเป็นทางการใด ๆ กับรัสเซีย พร้อมระบุว่าสหรัฐจะไม่เข้าร่วมการเจรจาใด ๆ ทั้งสิ้นหากไม่มียูเครนร่วมด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 67)
Tags: ยูเครน, รัสเซีย, วลาดิเมียร์ ปูติน, สงคราม, สหรัฐ