นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเพิ่มเป้าหมายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 120 ล้านคน/ปี เป็น 150 ล้านคน/ปี ด้วยการทบทวนแผนงานใหญ่เสนอกระทรวงคมนาคม สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้รับทราบการปรับแผนงาน โดยคาดว่าจะอยู่ภายใต้วงเงินงบประมาณเดิม
แผนแม่บทที่ปรับปรุงใหม่ ประกอบด้วย การลงทุนส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion) วงเงินประมาณ 9,000 ล้านบาท, ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท, อาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) วงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท, อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2) จำนวน 28 หลุมจอด (คล้าย SAT-1) วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท และรันเวย์ เส้นที่ 4 ที่จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีกประมาณ 30 ล้านคน/ปี วงเงินเกือบ 20,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทจะเดินหน้าโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) มูลค่า 9,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกไม่น้อยกว่า 60,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน/ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบก่อสร้างเพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป จะแล้วเสร็จและเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคาดว่าจะเปิดประมูล East Expansionในเดือนพ.ค.นี้ แล้วเสร็จในปี 70
“East Expansion เดือนพ.ค. นี้จะ Bidding แล้วส่วน North Expansion ต้องไปศึกษาแผนแม่บทอีกรอบหนึ่ง เป้าหมายปัจจุบันนี้ต้องศึกษาทบทวนแผนแม่บทก่อน เป้าหมายเดิมกำหนดไว้ที่ 120 ล้านคนต่อปี แต่มองว่า 4 รันเวย์น่าจะได้มากกว่านี้ กำลังทบทวนแผนแม่บทอยู่” นายกีรติ กล่าว
ส่วนสนามบินดอนเมืองที่จะพัฒนาในระยะที่ 3 ควบคู่ไปกับการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ นายกีรติ กล่าวว่า การศึกษาออกแบบคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนส.ค. 67 จากนั้นจะเปิดประมูลได้ไม่เกินปลายปี 67 เริ่มก่อสร้างต้นปี 68 ใช้เวลา 3 ปี โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท ขยายขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 30 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้รองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี โดยในปี 62 ทะลุ Capacity ไปที่ 38 ล้านคนต่อปีแล้ว
“เดือนส.ค. จะออกแบบแล้วเสร็จ คาดว่าไม่เกินปลายปีนี้จะได้ประมูล โดยตามแผนอยากให้ได้ตอกเข็มช่วงต้นปี 68 เสร็จ 3 ปีหลังจากนั้น ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว” นายกีรติ กล่าว
ตามแผนใช้อาคารผู้โดยสารหลังเก่า (ด้านทิศใต้) มาทุบทิ้งและสร้างอาคารใหม่เพื่อใช้งานรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศพื้นที่ 1.4 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) รองรับผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี คาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 70 พร้อมปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 (ปัจจุบันใช้รองรับผู้โดยสรระห่างประเทศ) เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศ ร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อเพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ 22 ล้านคนต่อปี หลังจากปี 62 มีผู้โดยสารมากถึง 38 ล้านคน
นายกีรติ กล่าวว่า ในการพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 จะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ให้สัมปทาน 30 ปี ก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ และอาคารภายในประเทศ (อาคาร1,2) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง หลักๆ คือ รองรับผู้โดยสารและประชาชนที่เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ามาที่อาคารนี้ ซึ่งมีร้านค้า ร้านอาหาร โดยผู้โดยสารสามารถเชื่อมไปยังอาคารในประเทศ และระหว่างประเทศได้สะดวกรวดเร็วและสะดวกสบาย
“มีเอกชนสนใจร่วมทุน แต่ต้องการความมั่นใจว่า ทอท.จะก่อสร้างเฟส 3 เมื่อใด ดังนั้นหากสามารถเปิดประมูลดอนเมืองเฟส 3 ได้ ส่วนของ Juntion Building จะเริ่มประมูลตามไปได้เลย และต่อไปดอนเมืองจะไม่ใช่สนามบินโลว์คอสต์อย่างเดียว แต่จะเป็นแบบ Point to Point ที่ไม่ต้องเชื่อมต่อ เดินทางเข้ามาถึงแล้ว สามารถเช็คอิน และออกไปได้เร็ว และยังอยู่ใกล้เมืองมากกว่าสุวรรณภูมิ
ส่วนการปรับปรุงระบบการจราจรเข้าและออกสู่สนามบินดอนเมือง จะมีการก่อสร้างสะพานเชื่อมทางยกระดับดอนเมือโทลล์เวย์กับถนนภายในสนามบินดอนเมือง ทั้งขาเข้า และขาออก เพิ่มเติม 2 จุด และปรับปรุงขยายช่องทางจราจรหน้าอาคารผู้โดยสารเป็น 6 ช่องทาง พร้อมปรับปรุงช่องทางออกด้านทิศใต้เพื่อลดการติดขัดของระบบจราจรภายในสนามบินดอนเมืองและบนถนนวิภาวดีรังสิตด้วย
โดยความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ และจะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 และจากการที่ทอท.ได้หารือกับ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ในเบื้องต้น ทางเอกชนก็ไม่มีปัญหาในการขยายทางเชื่อมกับสนามบินดอนเมือง โดยมีหลักการแบ่งสัดส่วนการลงทุน ตามเนื้องานที่อยู่ในพื้นที่ของแต่ละฝ่าย โดยทอท.จะลงทุนในส่วนที่อยู่ในรั้วสนามบิน ซึ่งจะมีทางเชื่อม(แลมป์) รองรับรถที่เข้าออกจากสนามบินเข้าสู่ระบบดอนเมืองโทลล์เวย์ได้เลย ช่วยแก้ปัญหาจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตได้มาก โดยเตรียมวงเงินดำเนินการไว้ในโครงการดอนเมืองเฟส 3 เพื่อให้แล้วเสร็จพร้อมกัน
นายกีรติ คาดการณ์ว่าปี 67 ผู้โดยสารจะกลับไปอยู่ที่ 65 ล้านคน/ปี ใกล้เคียงปี 62 (ก่อนโควิด) ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นและเริ่มแออัด ซึ่งได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ในการนำระบบ Auto Gate มาใช้ในอาคารหลัก อีกทั้ง SAT-1 จะเป็นส่วนที่ช่วยลดปัญหา Gate ไม่พอ ผู้โดยสารต้องใช้ Bus Gate หรือรอเวลา Gate ว่างทำให้ผู้โดยสาร 2 ไฟลท์ ต้องไปรอแออัด และที่นั่งไม่เพียงพอ
โดยแผนธุรกิจปี 67 สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ การเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานที่ดี ในแง่ของการดำเนินการตอนนี้ คือเตรียมกำลังคนและความพร้อมรองรับผู้โดยสาร และประสานงานกับผู้ให้บริการร้านค้าเชิงพาณิชย์ต่างๆ เนื่องจากยังมีพื้นที่ที่ยังไม่เต็มตั้งแต่โควิด-19 เป็นต้นมา เช่น ดอนเมืองยังมีพื้นที่อีก 30% ที่ยังไม่มีร้านค้า ซึ่งทำให้บรรยากาศโดยรวมของสนามบินไม่ดีไปด้วย
“ประธานให้นโยบายว่าต้องดูสภาพตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดบูมมาก พอช่วงโควิดมาตลาดดาวน์ ตอนนี้กระตุ้นอย่างไรก็ยังไม่ฟื้นกลับมา 100% ดังนั้น ถ้าเราต้องการดึง livelihood กลับมา ต้องดูสภาพตลาด ราคาในการแข่งขัน และตั้งราคาให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการเติมเต็มพื้นที่ ทั้งสองอย่างต้องทำควบคู่กัน” นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ กล่าวว่า ผลการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT- 1) ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.66 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 4 เดือน ขณะนี้มีสายการบินได้ย้ายไปให้บริการที่อาคาร SAT- 1 เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การบินไทย แอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยเวียตเจ็ท เป็นต้น โดยปัจจุบันมีเที่ยวบินเฉลี่ยกว่า 86 เที่ยวบิน/วัน คาดว่าภายในสิ้นดือน ก.พ.67 จะมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 112 เที่ยวบิน และจะมีสายการบินมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 16 สายการบิน และจะผลักดันให้เพิ่มเป็น 120 เที่ยวบิน /วันภายใน 2 เดือน และเพิ่มให้ได้ 400 เที่ยวบิน/วันภายในปี 2567เป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับอาคาร SAT-1 มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contract Gate) ทั้งหมด 28 หลุมจอด รองรับได้ 400 เที่ยวบิน/วัน และรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี ซึ่งในแง่การให้บริการ เป้าหมายของทอท. คือจะให้เที่ยวบินระหว่างประเทศใช้ Contract Gate ทั้งหมดไม่ต้องใช้หลุมจอดระยะไกล (Remote Parking Stand) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยจะทยอยลดการใช้ Remote Parking เนื่องจากการใช้อาคาร SAT-1 ต้องรอความพร้อมของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นด้วย
นอกจากนี้ อาคาร SAT-1 มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร นอกจากมีพืนที่อำนวยความสะดวกผูโดยสารและยังเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารหลัก ดังนั้นถือว่า มีส่วนในการเพิ่มรายได้ของทอท.แต่ยังไม่มากนัก เพราะเที่ยวบินยังมีไม่มาก
“ตอนนี้ Non-Arrow เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น SAT 1 และร้านค้าเชิงพาณิชย์ต่างๆ ที่ดอนเมือง และทอท.” นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ กล่าวว่า ราคาหุ้น AOT ผันผวนมากๆ มาตั้งแต่เดือนธ.ค. 66 เป็นต้นมาทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานและนโยบายก็ไม่เปลี่ยน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการผันผวนที่เกิดขึ้นผูกกับสถานการณ์ตลาดโลก โดยปัจจุบันมีฐานะการเงินของบริษัทเป็นบวก มีกระแสเงินสดในมือประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อเดือน และกำลังดีขึ้นต่อเนื่อง พร้อมที่จะขยายการลงทุนได้ด้วยตนเอง
คาดว่าในปี 67 จะมีรายได้กว่า 70,000 ล้านบาท เติบโตตามอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และเมื่อหักรายจ่ายลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท คาดจะมีสภาพคล่องในมือรวมกว่า 30,000 ล้านบาท
“ถ้าจะดูว่าหุ้น AOT เปลี่ยนแปลงอะไรนั้น ไม่มีปัจจัยหรือนโยบายใดๆ ที่ทำให้รายได้เราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปี 65 โตมาอย่างไรก็ตามเทรนด์เดิม เราประกาศบวกด้วยซ้ำทั้งๆ ที่หลายสนามบิน หรือสายการบินยังไม่ฟื้นเต็มที่ ดังนั้น แนวโน้มทิศทางหลังจากนี้คือพร้อมที่จะโต และลงทุนในอุตสาหกรรมการบินต่อไป” นายกีรติ กล่าว
นอกจากนี้บริษัทยังมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (Non-Aero) จากปัจจุบันบริษัทมีบริษัทลูก 12 บริษัท โดยล่าสุดในลงทุนธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานในท่าอากาศยาน และกำลังเตรียมพิจารณาขยายธุรกิจใหม่ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสนามบิน เช่น บริการขนส่งกระเป๋าสัมภาระจากที่พักมายังสนามบิน (Laggage Service) การบริการพรีเมี่ยมเซอร์วิสให้บริการลูกค้า VIP มีจุดรับผู้โดยสารและทางออกพิเศษ เป็นต้น ทั้งหมดถือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตลาดกำลังเติบโต และพร้อมสร้างรายได้ให้ AOT
“เรายังพร้อมและยังโตต่อเนื่องในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน และ Non-Aero รวมถึงการโรดโชว์นักลงทุนรายใหญ่ ผ่าน DJSI เพื่อย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งผมได้พูดในทุกเวทีว่าเรากำลังเดินหน้า Net Zero ทั้งด้าน ESG การนำไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และเตรียมลงทุนเรื่อง SAF ซึ่ง AOT สามารถประกาศได้ว่าเราเป็น Net Zero นอกจากลดต้นทุนของเราเอง และยังลดกับในอุตสาหกรรมด้วย … การลงทุนเราสามารถบริหารจัดการจากกระแสเงินสดที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องกู้เงิน โดย AOT เข้าไปถือหุ้นใหญ่ และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมทำธุรกิจ”
นายกีรติ กล่าวว่า บริษัทออกโรดโชว์ต่อนักลงทุนตลอด โดยขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ โดยทิศทางที่มีการพูดคุยจะผ่าน DJSI ซึ่ง AOT ติดอันดับ DJSI มา 9 ปีติดต่อกัน และเป็นหุ้นยั่งยืนของตลาดหุ้นไทยด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.พ. 67)
Tags: AOT, กีรติ กิจมานะวัฒน์, ทอท., ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานไทย, สนามบินดอนเมือง