ภาคเอกชนไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ไปยังสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ในช่วง 11 เดือนของปี 66 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่ารวม 3,143.26 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 54.16% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ ซึ่งมีการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ครองสัดส่วนอันดับหนึ่ง โดยมีมูลค่าสูงถึง 2,865.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิฯ สูงที่สุดคือ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยได้รับสิทธิ GSP จาก 4 ประเทศ/กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ประกอบด้วย ยูเครน อาเซอร์ไบจาน ทาจิกิสถาน มอลโดวา อุซเบกิสถาน จอร์เจีย และเติร์กเมนิสถาน
ทั้งนี้ จากการติดตามสถิติการใช้สิทธิ GSP พบว่าไทยมีการใช้สิทธิฯ ผ่านโครงการ GSP ของสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยช่วง 11 เดือนแรกของปี 66 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกภายใต้สิทธิฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ กรดมะนาวหรือกรดซิทริก หีบเดินทางขนาดใหญ่หรือกระเป๋าใส่เสื้อผ้า อาหารปรุงแต่ง และถุงมือยาง
ส่วนโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เป็นอันดับ 2 มูลค่า 261.36 ล้านดอลลาร์ อันดับ 3 โครงการ GSP ของนอร์เวย์ มูลค่า 12.16 ล้านดอลลาร์ และโครงการ GSP ของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) มูลค่า 4.47 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ โดยมีสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) และสับปะรดกระป๋อง (CIS) เป็นต้น
“ขอเชิญชวนผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยได้ใช้สิทธิพิเศษ GSP เหล่านี้เพราะจะทำให้ได้แต้มต่อทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ GSP ของสหรัฐฯ หากใช้สิทธิ GSP สินค้าจะได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้น” นายณรงค์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 67)
Tags: CIS, GSP, กระทรวงพาณิชย์, การส่งออก, นอร์เวย์, รณรงค์ พูลพิพัฒน์, สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐ