KJL ลุยเพิ่มกำลังผลิตต่อเนื่องดันยอดขายโต คว้าสัญญาใหม่เป็นตัวแทนสินค้าจากฝรั่งเศส

นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค (KJL) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปีนี้ ว่า บริษัทฯ เตรียมขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 32-33 ล้านชิ้นต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 30 ล้านชิ้นต่อปี และขยายฐานลูกค้าที่เป็นร้านอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,000 ร้านค้า จาก 800 ร้านค้า ส่วนเครือข่ายช่างไฟฟ้า ผู้รับเหมา และวิศวกร จะเพิ่มอีก 5,000 คน เป็น 10,000 คนในปีนี้

ทั้งนี้การขยายงานดังกล่าวเพื่อเป็นการรองรับความต้องการของลูกค้า โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) ราว 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าจากการจัดงาน “KJL Network Authorized Dealer” ช่วงปลายปีที่ผ่านมา คาดจะสามารถทยอยส่งมอบสินค้า และรับรู้รายได้ภายใน 3 – 6 เดือน หรือภายในไตรมาส 2/67 ซึ่งจะสนับสนุนให้ยอดขายในปี 67 เติบโตได้ราว 10-15%

สำหรับงบลงทุนในช่วง 3 ปี (67-69) บริษัทวางไว้ที่ 400-500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะใช้ลงทุนต่อเนื่องในการสร้างศูนย์นวัตกรรม KJL Innovation Campus (KiN) คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 68 เพื่อรองรับการพัฒนาสินค้า การขยายตลาดใหม่ๆ รวมถึงสร้าง New S-curve ไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่น งานดีไซน์, งานโลหะที่มีความซับซ้อน ส่วนงานไฟฟ้าจะขยายไปสู่ศูนย์พัฒนาทักษะด้านไฟฟ้า ต่อยอดจากเดิมที่ทำเรื่องเครือข่าย KJL Network ที่จะช่วยสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับบริษัทในปีหน้า

นอกจากนี้ ยังใช้ลงทุนรองรับการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 40 ล้านชิ้นต่อปี, เปลี่ยนมาเป็นโซลูชั่นเบสมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ ในฝั่งของอุตสาหกรรมบริการ (Industry Services), Industry Solution และขยายตลาดไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น งาน สถาปัตยกรรม เครื่องมือแพทย์ vending machine เป็นต้น

ปัจจุบัน KJL มีสินค้าหลักๆ ราว 70% คือ กลุ่มไฟฟ้า เช่น ตู้ไฟสวิช์บอร์ด รางเดินสายไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า ที่เหลือจะเป็นสินค้าสั่งผลิต (Made to Order) ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ราว 20% และสินค้าโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษอีกราว 2-5% รวมถึงสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าอีกราว 2% โดยหลังจากการลงทุนดังกล่าวสองกลุ่มหลังที่เป็นกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าและงานโลหะ จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาที่ 5% ใน 3 ปี

นายเกษมสันต์ กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของอุปกรณ์กลุ่มไฟฟ้าจากฝรั่งเศส โดยจะเน้นจำหน่ายให้กับลูกค้าเดิมที่มีอยู่เป็นหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าและตอบโจทย์ลูกค้าที่มีลักษณะงานสำเร็จรูปมากขึ้น ประกอบกับบริษัทยังเตรียมออกสินค้าใหม่ตลอดทั้งปีคาดว่าจะมีออกมาเพิ่มราว 5-6 หมวดสินค้า เพื่อเพิ่มความต้องการซื้อ ตอบโจทย์ตลาดให้เร็วมากขึ้น และทำให้การขายมีมูลค่าสูงขึ้น

บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นนโยบายคุมค่าใช้จ่ายทางการขายและบริหาร เพื่อรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ให้อยู่ในระดับ 28-32% และอัตรากำไรสุทธิที่ 13-15%

ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ มองเรื่องของราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะเหล็ก และโลหะ ที่ยังคงมีความผันผวนอยู่ ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก ซึ่งทาง KJL มีนโยบายไม่เก็งกำไรในวัตถุดิบต้นทุนมากเกินไป คือไม่สต็อกสินค้าล่วงหน้าจำนวนมากๆ โดยมี Inventory Day ประมาณ 30-45 วัน โดยจะเป็นการสต็อกตามคำสั่งซื้อ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่กระทบกับมาร์จิ้น พร้อมกันนี้ยังมองความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้า แต่บริษัทเชื่อมั่นว่าจากการกระจายความเสี่ยง (Diversify) ไปในหลายอุตสาหกรรมน่าจะช่วยให้กระทบไม่มาก และพร้อมที่จะปรับตัว ยืดหยุ่น กับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองการลงทุนเป็นบวกอยู่ เนื่องจากไฟฟ้าน่าจะได้เป็นผู้เล่นหลักจากการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดที่น่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โซลาร์รูฟ ลม รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เข้าในไทย เช่น การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่ยังอาศัยไฟฟ้าที่มีเสถีรยภาพ ซึ่งกลุ่ม KJL มีการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 67)

Tags: , ,
Back to Top