นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต (Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม และแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1. บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉิน ระหว่างไทยกับกัมพูชา
2. บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา
3. บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทย และกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
4. บันทึกความเข้าใจ ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา
5. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้ากัมพูชา
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจดังกล่าวว่า ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชานั้น ได้ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งเสริมศักยภาพของทั้ง 2 ประเทศที่มีร่วมกัน และไทยจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ ในเมืองเสียมเรียบ ขณะที่กัมพูชา จะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ ในสงขลาภายในปีนี้
ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยไทยจะไม่ยอมให้ใครใช้ไทยเป็นพื้นที่ในการแทรกแซงกิจการภายใน หรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อประเทศเพื่อนบ้าน และผู้นำทั้งสองฝ่าย ยังเห็นพ้องกันกระชับความร่วมมือต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์
ด้านเศรษฐกิจ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ ครั้งที่ 7 ในต้นเดือนมีนาคม พร้อมทั้งมีนโยบาย Quick Win ในการนำ MOU ว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าที่ได้ลงนามไปใช้ทันที เพื่อเพิ่มปริมาณการค้า โดยเฉพาะการค้าชายแดน รวมถึงยินดีกับการลงนาม MOU ระหว่าง EXIM Bank กับหอการค้ากัมพูชา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากทั้งไทยและกัมพูชา
ด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน จากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่เรียกร้องที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ โดยผู้นำทั้งสองฝ่าย มุ่งมั่นในการเก็บทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่นำร่อง เพื่อเป้าหมายในการทำให้พื้นที่ชายแดนปลอดภัย
พร้อมทั้งดำเนินการยกระดับการเปิดจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชา ที่ยังคั่งค้าง รวมทั้งยินดีที่ได้ลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการรับมือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นการวางกรอบความร่วมมือ เพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินในบริเวณชายแดน
ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการรวมจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการ “6 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค พร้อมปรับปรุงข้อตกลงว่าด้วยการข้ามชายแดน และจะกลับมาเจรจาความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนทางถนน เพื่อให้ข้ามพรมแดนด้วยรถยนต์ส่วนตัวได้
ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน โดยตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการจัดตั้งสายด่วน แลกเปลี่ยนข้อมูลและการเตือนจุดที่มีการเผา ความร่วมมือในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และสร้างขีดความสามารถและแบ่งปันแนวปฏิบัติในการจัดการกับการเผาในเกษตรกรรม รวมถึงไทยได้เชิญกัมพูชาเข้าร่วมแผนปฏิบัติการ CLEAR Sky Strategy เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหานี้ในระดับภูมิภาค
ด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญดูแลแรงงานทุกประเทศ รวมถึงชาวกัมพูชาในประเทศไทย ให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และการรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม
สำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น ไทยและกัมพูชาต่างต้องการที่จะเห็นเมียนมามีสันติสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ ซึ่งรัฐบาลจะแสดงบทบาทเชิงรุกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในเมียนมา และส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยดำเนินความร่วมมือพร้อมกับอาเซียน
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ในช่วงท้าย ผู้นำไทยและกัมพูชา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยจะร่วมกันจัดกิจกรรมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 ซึ่งเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชน พร้อมทั้งยืนยันที่จะพบปะและหารือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 67)
Tags: กัมพูชา, ฮุน มาเนต, เศรษฐา ทวีสิน