FAA เผย 90% ของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 9 กลับมาขึ้นบินแล้วหลังเสร็จสิ้นการตรวจสอบ

สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (6 ก.พ.) ว่า สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ และอลาสก้า แอร์ไลน์ ตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 9

เสร็จสิ้นแล้วเกือบ 94% และเครื่องบินที่ผ่านการตรวจสอบก็กลับมาให้บริการอีกครั้งแล้ว หลังเกิดเหตุชิ้นส่วนหลุดกลางอากาศเมื่อเดือนที่ผ่านมา

FAA ได้ยกเลิกคำสั่งระงับใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 9 เมื่อวันที่ 24 ม.ค. โดย FAA ระบุว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวจำนวน 78 ลำจาก 79 ลำของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ และ 57 ลำจาก 65 ลำของสายการบินอลาสก้า แอร์ไลน์ ได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยและกลับมาให้บริการอีกครั้งแล้ว

ทั้งนี้ สายการบินอลาสก้า แอร์ไลน์ประสบเหตุชิ้นส่วนบริเวณผนังเครื่องบินหลุดกลางอากาศเมื่อวันที่ 5 ม.ค. หลังออกเดินทางจากสนามบินในเมืองพอร์ตแลนด์ของรัฐออริกอนได้ไม่นาน ส่งผลให้เกิดให้ช่องโหว่ใหญ่บริเวณลำตัวเครื่องบินและต้องร่อนลงจอดฉุกเฉิน

สายการบินอลาสก้า แอร์ไลน์ระบุว่า การตรวจสอบทั้งหมดยกเว้นเครื่องบินลำที่เกิดเหตุจะแล้วเสร็จภายในวันอังคาร (6 ก.พ.)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การตรวจสอบที่ FAA กำหนด ได้แก่ การตรวจสอบสลักเกลียวเฉพาะและรางนำทาง รวมถึงการตรวจสอบความพอดีของประตูและตรวจสอบส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องหลายสิบชิ้นด้วยตาโดยละเอียด โดยคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ (NTSB) กำลังตรวจสอบว่าสลักเกลียวหายไปจากเครื่องบินลำที่เกิดเหตุชิ้นส่วนหลุดหรือไม่

รายงานระบุว่า คำสั่งระงับใช้เครื่องบินของ FAA ส่งผลให้สายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายพันเที่ยวในเดือนม.ค.

นายโจดี เบเกอร์ รองผู้บริหารด้านความปลอดภัยการบินของ FAA แถลงต่อสื่อมวลชนว่า FAA อาจต้องการเจ้าหน้าที่มากขึ้นและจะยังคงดำเนินการตรวจสอบตามปกติต่อไป

ทั้งนี้ นายไมค์ วิทเทเกอร์ ผู้บริหาร FAA เตรียมให้การต่อหน้าคณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐในวันนี้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาคองเกรสหรัฐได้ตั้งคำถามว่า FAA กำลังเปลี่ยนแปลงแนวทางการดูแลตรวจสอบเครื่องบินโบอิ้งและซัพพลายเออร์ในสถานที่หรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 67)

Tags: , ,
Back to Top