“ภูมิธรรม” กังวลเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง สะท้อนศก.วิกฤต หวั่นซ้ำรอยต้มยำกุ้ง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.67 ปรับตัวลดลง 1.11% ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงวิกฤต โดยสถานการณ์ยังคงอยู่เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือได้ว่าประเทศยังมีวิกฤตอยู่หลายเรื่อง

สิ่งที่น่ากังวลคือ วิกฤตทางการเงิน ซึ่งเคยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ส่งผลกระทบต่อการเงินทั้งระบบ และเท่าที่ดู นักการเงินก็เป็นห่วงเรื่องนี้ โดยจะเห็นได้จากกรณีการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้

“ผมถึงได้บอกว่าตรงนี้สำคัญ ถ้ามันเกิดขึ้น แล้ววิกฤตล้มครืนแบบต้มยำกุ้ง จะเกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนที่ต่อต้านการกระทำใดๆ ของรัฐบาล ให้คำนึงถึงจุดนี้ด้วย” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม กล่าวว่า มีนักเศรษฐศาสตร์หรือนักการเงินระบุว่าถ้าไม่ทำอะไรตอนนี้ โอกาสจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งจะตามมา เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องกลับไปดูว่าเป็นจริงหรือไม่ เชื่อหรือไม่ และถ้าหากยังคัดค้านอยู่ ก็ไม่ว่าอะไรกัน แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายขึ้น สิ่งที่คัดค้านไว้ ก็อยากให้รับผิดชอบด้วย

 

เงินเฟ้อร่วงต่อเนื่อง-กำลังซื้อหด-หนี้สูง หวัง กนง.ช่วยลดดอกเบี้ย

 

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แสดงความเห็นในเรื่องอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 4 เดือนว่า แม้จะอ้างได้ว่าการติดลบของอัตราเงินเฟ้อนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายลดค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ว่าอัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำจนน่าเป็นห่วง ซึ่งหลัก ๆ มองว่าเป็นผลมาจากประชาชนขาดกำลังซื้อ กำลังซื้อหดหาย ขณะเดียวกันสถานการณ์หนี้ก็ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง

“ตอนนี้ กำลังซื้อของประชาชนมันหดหาย บวกกับสถานการณ์ตอนนี้ที่ตัวเลขหนี้สูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือน ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่าย เพราะเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของตัวเอง ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ไม่ลงทุน เพราะประชาชนไม่ใช้จ่าย มันก็ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ เราจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา มันไปอยู่ที่ประชาชนกลุ่มบนทั้งหมด ขณะที่ประชาชนในกลุ่มล่าง หรือกลุ่มฐานรากจริง ๆ ไม่มีการขยายตัว มีรายได้ที่ไม่เพียงพอ” รมช.คลังกล่าว

ส่วนสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ายังเป็นภาระกับประชาชนอยู่มาก การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ ก็เป็นอำนาจของ กนง. ที่จะพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนตัวคงไม่อยากเข้าไปพูด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพูดชัดเจนแล้วว่าอยากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมโยงนโยบายให้ใกล้กับประชาชนมากขึ้นกว่า โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย จะห่วงแต่เรื่องเสถียรภาพอย่างเดียวไม่ได้

“เราพูดชัดอยู่แล้ว ว่าอยากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย มีความเชื่อมโยงใกล้กับประชาชนให้มากขึ้น จะห่วงแต่เสถียรภาพอย่างเดียวคงไม่ได้ ตอนนี้ระบบสถาบันการเงินแข็งแกร่งมาก ดูจากผลกำไรที่ออกมา สะท้อนว่าเขาแข็งแกร่งแล้ว แต่ปัญหาคือ ผลกระทบที่เกิดกับประชาชน ตรงนี้เป็นอีกมิติหนึ่ง ในเรื่องการทำงานนั้น นโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องสอดคล้อง สอดประสานกัน” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top