![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2024/02/359DD5B299B8E5D427A0633516D4305C.png)
มล.จันทรจุฑา จันทรทัต ประธานกรรมการ บมจ.เคมีแมน (CMAN) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ใช้เวลานานกว่า 10 ปีพัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้าในอินเดียจนก้าวสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในรูปของการร่วมลงทุนเมื่อหลายปีก่อน และความร่วมมือในการสร้างโรงงานเมื่อเร็ว ๆ นี้
บริษัทเล็งเห็นโอกาสในอินเดียมานานแล้วเพราะเป็นประเทศขนาดใหญ่ ยังมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอุตสาหกรรมอีกมาก มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยนโยบาย “Made in India” ทำให้ปัจจุบันอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการปูนควิกไลม์ และปูนไฮเดรตไลม์ มีมากกว่า 16 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณความต้องการที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
ตลาดปูนไลม์ส่วนใหญ่ของอินเดียพึ่งพาการซื้อจากผู้ผลิตในประเทศเป็นหลัก และมีการนำเข้าน้อยกว่า 1 ล้านตันต่อปี เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าสูงกว่าการซื้อในประเทศเพราะค่าขนส่งทางเรือและภาษีนำเข้า ดังนั้น การมีโรงงานผลิตปูนไลม์ในประเทศอินเดีย จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันที่ตอบโจทย์ในระยะยาว
ฐานการผลิตปูนไลม์ของ CMAN ครอบคลุมตลาดเกือบทั้งหมดของอินเดีย ได้แก่
![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2024/02/7078A01FE5959DE09DE85E18314895B7.jpg)
1. Easternbulk Lime Products (ELPPL) ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือ Tuticorin ทางภาคใต้ของอินเดีย เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 มีกำลังการผลิตปูนไลม์สูงสุด 100,000 ตันต่อปี ปัจจุบันผลิตเต็มกำลัง และมีผลกำไร
2. Siriman Chemicals (“Siriman”) ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือ Visakhapatnam ทางภาคตะวันออกของอินเดีย มีกำลังการผลิตปูนไลม์สูงสุด 50,000 ตันต่อปี และปูนไฮเดรตไลม์สูงสุด 35,000 ตันต่อปี เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 เริ่มทำกำไรตั้งแต่ 6 เดือนที่ผ่านมา และผลประกอบการมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
3. Khimsar Mine Corporation (“KMC”) ตั้งอยู่เมืองคิมซ่า รัฐราชสถาน ทางภาคเหนือของอินเดีย โรงงานเฟสแรกคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568 กำลังการผลิตปูนไลม์ 100,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 500,000 ตันต่อปีอย่างรวดเร็วตามแผนการในระยะแรก เนื่องจากรัฐราชสถานมีพื้นที่ติดกับรัฐคุชราต และรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นเขตที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดของประเทศอินเดีย ดังนั้น KMC จะสามารถสร้างฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้เป็นจำนวนมาก
“โรงงานของ Easternbulk และ Siriman ตั้งอยู่ใกล้ลูกค้าอุตสาหกรรมจำนวนมาก และยังรองรับความต้องการของลูกค้าที่ตั้งอยู่ในรัศมีกว่า 1,000-2,000 กิโลเมตรจากโรงงานในภาคตะวันออกและภาคใต้ของอินเดีย อย่างไรก็ตาม โรงงานทั้ง 2 แห่งพึ่งพาวัตถุดิบหินปูนเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่ KMC ตั้งอยู่ใกล้เหมืองวัตถุดิบที่เป็นของตัวเอง ซึ่งรัฐราชสถานนั้นเป็นแหล่งวัตถุดิบหินปูนเคมีที่สำคัญของผู้ผลิตปูนไลม์ในประเทศอินเดียมานานแล้ว ทำให้ KMC จะสามารถสร้างและขยายฐานลูกค้าได้กว้างขวางครอบคลุมภาคเหนือและภาคตะวันตกของอินเดีย” มล.จันทรจุฑา กล่าว
บริษัทประเมินว่า ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้ที่โรงงานทั้ง 3 แห่งรวมกัน จะกลายเป็นฐานการผลิตปูนไลม์ที่ใหญ่กว่าประเทศไทย เราเชื่อมั่นว่าฐานการผลิตเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมตลาดทั่วอินเดียนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ CMAN ก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจปูนไลม์ระดับ Top 5 ของโลกภายในระยะเวลาอันใกล้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 67)
Tags: CMAN, จันทรจุฑา จันทรทัต, เคมีแมน