นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า แผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ช่วงปี 67-69 จะเน้นไปที่ความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” ที่สะท้อนถึงคำมั่นสัญญาขององค์กรสู่อนาคตที่ความยั่งยืนและการสร้างแข็งแกร่งในระดับภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแผนธุรกิจฉบับนี้จะมุ่งเป้าไปยังสามประการหลัก ได้แก่ การเป็นธนาคารชั้นนำเพื่อความยั่งยืน การขับเคลื่อนความเป็นผู้นำระดับภูมิภาค และการรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจหลักของธนาคาร
ธนาคารได้วางเป้าหมายได้วางเป้าหมายในการเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนที่ 1 แสนล้านบาทภายในปี 73 และให้การสนับสนุนลูกค้าในการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน โดยในปี66 ที่ผ่านมา ธนาคารมียอดสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้น 7.1 หมื่นล้านบาท จากฐานปี 64
แผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่นี้ ธนาคารจะมุ่งขยายบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืนเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อยที่หลากหลายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และเอสเอ็มอีในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนในเรื่องกติกาด้านการเงินและภาษี (Taxonomy) ที่จำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความเข้มของค่าคาร์บอนโดยใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรเป็นเกณฑ์
ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงเครือข่ายของกรุงศรี และ MUFG ในปัจจุบันครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศในอาเซียน โดยธนาคารมีบริษัทในเครือกระจายอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว ที่ให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 17 ล้านราย
การดำเนินงานในอาเซียนของกรุงศรีจะส่งเสริมขีดความสามารถของธนาคารในหลายแง่มุม ตั้งแต่โมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ ไปจนถึงการระดมทุน การบริหารความเสี่ยง โซลูชันดิจิทัล และนวัตกรรมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับกรุงศรีในการเป็นธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาค และมุ่งมั่นเดินหน้าใช้ประโยชน์จากเครือข่าย MUFG เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค ผ่านการนำเสนอโซลูชันการจับคู่ธุรกิจแบบครบวงจรด้วยแพลตฟอร์ม Krungsri Business Link และบริการ Krungsri ASEAN Link ที่จะช่วยเชื่อมโยงลูกค้าธุรกิจชาวไทยกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เชื่อถือได้เข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายของธนาคารที่มีอยู่ในอาเซียนและญี่ปุ่น
สำหรับในปี 67 กรุงศรีวางเป้าหมายเงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.8-4.1% ธนาคารคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.50-2.75% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (cost-to-income ratio) จะอยู่ในระดับ mid-40% ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจไทย
จากข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีระบุว่า ประเทศไทยกำลังเดินอยู่บนเส้นทางของการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายสาธารณะ นโยบายสนับสนุนต่างๆของภาครัฐ ตลอดจนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีขณะที่แรงส่งภายนอกสร้างความท้าทายต่อโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น และภัยแล้งที่เพิ่มความซับซ้อนขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมุ่งมั่นที่จะสร้างความแข็งแกร่งและรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจหลักของธนาคาร เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยจะเน้นเรื่องดิจิทัล ดาต้า ระบบนิเวศและการสร้างพันธมิตรเป็นแกนสำคัญในการดำเนินงาน สำหรับกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล กรุงศรียังคงเดินหน้ากลยุทธ์ One Retail โดยการใช้ดาต้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ กรุงศรีจะขยายขีดความสามารถด้านธุรกรรมการเงินทั้งในและต่างประเทศในรูปแบบ Banking as a Service โดยพัฒนาร่วมกับพันธมิตรจากทั้งในไทยและต่างประเทศ และสำหรับในด้าน IT และดิจิทัล กรุงศรีจะเดินหน้าลงทุนในดิจิทัลแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่ยึดความต้องการลูกค้าเป็นหลัก รวมถึงการใช้ AI และ Machine Learning เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และการให้บริการกับลูกค้าในทุกกลุ่ม ผ่านทุก Touchpoint ทั้งสาขา ออนไลน์ โมบายแอป และ Call Center
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 67)
Tags: BAY, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, หุ้นไทย, เคนอิจิ ยามาโตะ