“เพื่อไทย-ก้าวไกล” จับมือยื่นร่างแก้ไข กม.ประชามติ

ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2 ฉบับ ซึ่งเป็นฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ และอีกฉบับจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ผ่านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทย 129 คน ได้ร่วมกันลงชื่อ เพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2564 เนื่องจากกฎหมายฉบับปัจจุบัน กำหนดให้การออกเสียงประชามติ เป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น โดยชั้นที่ 1 คือ ผู้มาใช้สิทธิต้องเป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิทั้งหมด และชั้นที่ 2 ผลการออกเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ จึงสุ่มเสี่ยงกรณีหากประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิ หรือไม่ประสงค์ใช้สิทธิ จะทำให้การออกเสียงประชามติเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมองว่ามีอีก 3 ประเด็นที่ควรแก้ไขไปพร้อมกัน คือ การออกเสียงลงคะแนน ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ราว 3,000 ล้านบาท จึงคิดว่าหากการออกเสียงประชามติ ใกล้เคียงกับวันเลือกตั้งทั่วไป หรือวันเลือกตั้งท้องถิ่น ก็น่าจะจัดไปพร้อมกันในวันเดียวได้ เพื่อประหยัดงบประมาณ และประชาชนไม่ต้องออกมาเลือกหลายครั้ง ส่วนอีกประเด็นคือ เห็นว่าควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาวิธีการออกเสียงลงมติ นอกจากการไปกาบัตร เช่น การส่งไปรษณีย์ หรือออนไลน์

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายประชามติในครั้งนี้ คือการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยฉบับของพรรคก้าวไกล ประกอบด้วยการแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 ทำให้กติกามีความเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากข้อกังวลของ หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น ซึ่งเข้าใจว่าผู้ออกกติกานี้ตั้งใจให้ประชามติมีผลต่อประชาชนจำนวนมาก แต่มีความเสี่ยงเปิดช่องให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกถาม ใช้วิธีการนอนอยู่บ้าน ไม่ออกมาใช้สิทธิเพื่อคว่ำประชามติ ถึงเปลี่ยนกติกาให้เป็นเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 1 ชั้น คือ ให้เสียงประชาชนผู้เห็นชอบมีเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

ประเด็นที่ 2 ปลดล็อกให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถจัดประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้งอื่นๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณ และยังเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย และทำให้ กกต. ยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนวันทำประชามติออกไป

ประเด็นที่ 3 ทำให้ประชามติมีความทันสมัยมากขึ้น ให้ประชาชนออกเสียงประชามติผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพราะปัจจุบันการเข้าชื่อ จะต้องพิมพ์เอกสารออกมา แล้วลงชื่อเท่านั้น ไม่สามารถทำผ่านออนไลน์ได้ ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงต้องการให้สามารถเข้าชื่อทางออนไลน์ได้

“แม้ว่าทั้ง 2 พรรค อาจจะอยู่กันคนละฝั่งในระบบรัฐสภา แต่ก็พร้อมร่วมมือกันในประเด็นที่เห็นด้วย ส่วนประเด็นที่เห็นต่าง ก็พร้อมแข่งขันกันเต็มที่ เพราะเป็นแนวทางที่ท้ายสุด ประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่กับประชาชน” นายพริษฐ์ กล่าว

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า จะนำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ส่งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากสภาฯ มีเวลาในสมัยประชุมนี้อีกประมาณ 2 เดือนเท่านั้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top