PwC ประเทศไทย แนะผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจ พร้อมคาดจะมีการนำ GenAI มาใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปีนี้ หลังเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานภายในองค์กร การสร้างรายได้ และการแสวงหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ
น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการทางการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI: GenAI) จะถูกนำมาใช้งานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567 หลังองค์กรหลายแห่งมีการนำ GenAI มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาบุคลากร และปรับปรุงคุณภาพของข้อมูล
ทั้งนี้ เมื่อเดือนก.ค.66 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยผลการศึกษาความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี AI ขององค์กรภาครัฐและเอกชนไทย พบว่า 15.2% มีการนำ AI มาใช้งานแล้วในองค์กร ขณะที่ 56.65% มีแผนที่จะนำมาใช้ในอนาคต และ 28.15% ยังไม่มีแผนที่จะใช้
“การใช้งาน GenAI ในไทยจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ เพราะตอนนี้หลายองค์กรเริ่มมีการใช้งานเป็น use cases เล็ก ๆ โดยเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเพื่อทดลองทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาคน และปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลไปพร้อม ๆ กัน”
น.ส.วิไลพร กล่าว
ข้อมูลจากบทความ “2024 AI Business Predictions” ของ PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า 73% ของบริษัทในสหรัฐอเมริกาได้นำ AI ไปใช้กับธุรกิจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้ว และ 1 ปี หลังจากที่ ChatGPT เข้าสู่ตลาดบริษัทมากกว่าครึ่งที่ถูกสำรวจ (54%) ได้นำ GenAI ไปใช้กับธุรกิจบางส่วนของตน
“GenAI ถือเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่เริ่มใช้กับงาน back office เช่น ไฟแนนซ์ HR งานวิจัย การจัดทำรายงาน และอื่น ๆ รวมไปถึงงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่าง chatbot การค้นหาข้อมูล เปรียบเทียบข้อมูลสินค้า หรือให้คำแนะนำในการเลือกสินค้าที่เหมาะสม”
น.ส.วิไลพร กล่าว
- แนะควบคุมความเสี่ยงด้วยกรอบ ‘Responsible AI’
น.ส.วิไลพร กล่าวว่า แม้ GenAI จะได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจไทย แต่ผู้บริหารควรต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ AI เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค รวมถึงควรประเมินประสิทธิภาพและผลลัพธ์จากการใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยควรแบ่งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ GenAI ออกเป็น 4 ประการ ดังนี้
– ความเสี่ยงจากข้อมูลที่นำมาใช้ เกิดขึ้นจากการมีข้อมูลที่มีคุณภาพต่ำ ทำให้เกิดการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด หรือในบางกรณี โมเดล AI อาจสร้างเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง และ/หรือเป็นอันตราย ก่อให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
– ความเสี่ยงทางโมเดลและอคติ การละเมิดหลักการทางจริยธรรม และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรม (Bias)
– ความเสี่ยงจากข้อมูลที่นำเข้า การให้คำตอบที่ทำให้เข้าใจผิด ไม่ถูกต้อง และเป็นอันตรายของโมเดล AI โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากคำถามที่ซับซ้อน หรือข้อมูลนำเข้าที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ
– ความเสี่ยงจากผู้ใช้งาน ที่นำผลลัพธ์จาก GenAI ไปใช้ในทางที่ผิด
“ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ทุกธุรกิจจะต้องมีกรอบการใช้งาน AI อย่างมีจรรยาบรรณ และมีสำนึกรับผิดชอบ โดย framework นี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน เริ่มจากการควบคุมการวางแผน ออกแบบ จัดหา หรือพัฒนาโมเดล AI เพื่อเลือกข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม ตามด้วยการตรวจสอบโมเดล เพื่อกำหนดเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงจากโมเดล AI และสุดท้าย การจัดการโมเดล AI เพื่อนำเสนอผลจากการวิเคราะห์ก่อนใช้”
น.ส.วิไลพร กล่าว
ทั้งนี้ การกำหนดแนวปฏิบัติในการหาอคติจากข้อมูล การฝึกอบรมทีมงานให้จัดการกับรูปแบบการเรียนรู้ของเครื่องจักรและข้อมูลที่อาจมีอคติ หรือการใส่ข้อมูลที่มีอคติโดยมนุษย์ และการกำหนดเกณฑ์เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิด ความยากในการตีความ ภัยคุกความทางไซเบอร์ และความเป็นส่วนตัวได้
“การกำกับการใช้งาน AI ที่มีความยุติธรรม ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ และมีการป้องกันความเป็นส่วนตัวจะช่วยดึงศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ ออกมาเสริมการทำงานที่มีมนุษย์เป็นผู้นำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรได้”
น.ส.วิไลพร กล่าว
นอกจากนี้ บทความดังกล่าว ยังได้คาดการณ์ 6 แนวโน้มของ AI ในธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ไว้ ดังนี้
1. การเลือกใช้ AI ที่ถูกต้อง จะช่วยให้บริษัทมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน
2. GenAI จะพลิกโฉมวิธีการทำงานของผู้นำองค์กรและบุคลากร
3. ช่วงเวลาแห่งการสร้างความไว้วางใจจากการใช้งาน AI กำลังจะมาถึง
4. GenAI จะเติมเต็มการใช้ข้อมูลที่ซับซ้อน และไม่มีโครงสร้าง
5. GenAI จะเป็นตัวเร่งการพลิกโฉมทางธุรกิจ
6. GenAI จะก่อให้เกิดสินค้าและบริการประเภทใหม่
“GenAI ที่ได้รับการฝึกฝนล่วงหน้า และปรับให้เข้ากับความต้องการของธุรกิจ จะช่วยให้พนักงานสามารถเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการค้นหาข้อมูล สรุปเอกสาร หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งนำไปสู่การสนับสนุนการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ โดยอาศัยข้อมูลที่มีความพร้อมและครบถ้วน นอกเหนือไปจากการลดต้นทุน และย่นระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง”
น.ส.วิไลพร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 67)
Tags: AI, GenAI, PwC, ปัญญาประดิษฐ์, วิไลพร ทวีลาภพันทอง, เทคโนโลยี