วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนอย่างเอเวอร์แกรนด์ทำให้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์จีน แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ผลกระทบเชิงลบนี้มีแนวโน้มที่จะถูกจำกัดให้แคบลง ขณะที่นายเชห์ซาด กาซี ประธานฝ่ายปฏิบัติการของไชน่า เบจ บุ๊ค อินเตอร์เนชั่นแนล มองว่าเรื่องนี้อาจเป็น “ข่าวดี”
นายกาซี กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ (30 ม.ค.) ว่า ตอนนี้ จีนถูกบีบให้แบกรับภาระหนี้สินจากความล้มเหลวของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเอเวอร์แกรนด์ภายในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายแพร่กระจายเป็นวงกว้าง
นายกาซีเปิดเผยว่า หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังของจีนมีประสิทธิผล และมีขนาดใหญ่เพียงพอ มาตรการเหล่านี้อาจช่วยยกระดับความเชื่อมั่นและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะชะลอตัวลงกว่าเมื่อปีที่แล้ว
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (29 ม.ค.) ศาลสูงฮ่องกงมีคำสั่งให้ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ทำการขายสินทรัพย์และปิดกิจการ (Liquidation) หลังจากที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้
ผู้พิพากษาลินดา ชาน แห่งศาลสูงฮ่องกงเปิดเผยว่า บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ มีหนี้สินมูลค่า 2.39 ล้านล้านหยวน (3.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน โดยคำสั่งขายกิจการเอเวอร์แกรนด์อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของจีนแม้ว่าทางการจีนพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพในระบบการเงินและตลาดการเงินภายในประเทศก็ตาม
“จริง ๆ แล้วนี่เป็นข่าวดี ระบบการเงินที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ (non-commercial) ของจีนช่วยสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยธนาคารเลห์แมน เนื่องจากรัฐบาลควบคุมตัวกลางทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบังคับให้พวกเขาให้สินเชื่อ จัดหา กู้ยืม และดำเนินการด้านอื่น ๆ ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีเหตุการณ์ด้านสินเชื่อครั้งใหญ่” นายกาซีกล่าว
ทั้งนี้ นายกาซีอ้างถึงการล่มสลายของธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2551 ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน และทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในท้ายที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 67)
Tags: อสังหาริมทรัพย์, เอเวอร์แกรนด์