ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) และพรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขมาตรา 112 พร้อมทั้งรณรงค์และนำไปหาเสียงเลือกตั้ง สส.เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์เป็นประมุข พร้อมสั่งให้ยุติการกระทำทุกอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 รวมทั้งเตือนทุกฝ่ายอย่าละเมิดอำนาจศาล
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 เจตนาลดทอนความคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ลง มุ่งหมายดึงให้สถาบันกษัตริย์มาขัดแย้งกับประชาชน เจตนาแยกสถาบันกษัตริย์และชาติไทยออกจากกันซึ่งเป็นความอันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งนายพิธาและพรรคก้าวไกลมีทัศนคติสนับสนุนยกเลิกมาตรา 112 เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
“ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74″ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
ข้อเท็จจริง คือ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 นายพิธา และ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวกลฎหมายอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และใช้เป็นนโยบายหาเสียงของพรรค รวมทั้งมีพฤติกรรมรณรงค์ในการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เรื่อยมา เข้าร่วมการชุมนุม การจัดกิจกรรม มีกรรมการบริหารพรรค สส. และสมาชิกพรรคไปเป็นผู้ต้องหา หรือเป็นนายประกันผู้ต้องหาความผิดตามมาตรา 112 และเคยแสดงความเห็น ทั้งให้แก้ไข และยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมือง และสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง
ขณะที่การตรากฎหมายนั้นต้องให้เกิดความสงบสุขในสังคมและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้จะผ่านกระบวนการจองรัฐสภาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วางหลักการที่จะปกป้องคุ้มครองสถาบันจากภัยคุกคาม ไม่ให้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพบั่นทอนระบอบการปกครองให้สิ้นสลาย ขณะที่มาตรา 112 กำหนดให้ลงโทษผู้กระทำผิดสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องมิได้ การกระทำผิดต่อสถาบันฯ จึงกระทบต่อความมั่นคง
การที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลพยายามไม่ให้เป็นความผิดที่สำคัญ เป็นเพียงคดีหมิ่นประมาททั่วไป ทำให้เกิดการพาดพิงจนเสื่อมพระเกียรติ มีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันฯ ออกจากประเทศไทย จึงเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้กลายเป็นเรื่องส่วนพระองค์ที่สถาบันฯ ขัดแย้งกับประชาชน ทั้งที่สถาบันฯ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ
บทบัญญัติมาตรานี้คุ้มครองมิให้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ส่งผลบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ สั่นคลอน คติ รากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมทราม หรือต้องสิ้นสลายไป จึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลาย โดยการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคล หรือพรรคการเมืองไว้
“การปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์โบราณราชประเพณี นิติประเพณี นอกจากมีลักษณะเป็นสถาบันหลักของประเทศ พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ พระเกียรติของสถาบัน ผดุงซึ่งเกียรติยศของประเทศ รักษาคุณลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ และสถาบันหลักของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้” ตุลาการฯ ระบุ
การกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเป็นความพยายามที่จะลดทอนการคุ้มครองสถาบันฯ โดยอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ ปกปิดซ่อนเร้น ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด เป็นการกระทำที่มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้รัฐธรรมนูญเสื่อมทราม ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังมีพฤติกรรมยุยงปลุกปั่นสร้างกระแสให้ยกเลิกมาตรา 112 หากยังปล่อยให้ดำเนินการต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินกว่าการกระทำล้มล้างสถาบันฯ และล้มล้างการปกครอง
หลังอ่านคำวินิจฉัยแล้ว นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ตระหนักว่าการวิจารณ์คำวินิจฉัยที่กระทำโดยไม่สุจริตและใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้ายจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 38 วรรคท้าย ซึ่งจะมีโทษตักเตือน จำคุก ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 67)
Tags: ก้าวไกล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ศาลรัฐธรรมนูญ