Media Talk: ส่องจักรวาล MARTECH 2024 ชี้ความสะดวกในการใช้งานเทคโนโลยีสำคัญ!

ผลสำรวจจากรายงาน Thailand’s Martech Report 2024 ชี้ปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่มีเป้าหมายในการใช้ Martech หรือเทคโนโลยีการตลาดด้านยอดขายเป็นหลัก 88% ด้านประสิทธิภาพในการทำงาน 62% การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า 44% และการลดต้นทุน/ค่าใช้จ่ายเป็นอันดับสุดท้ายเพียง 33%

ขณะที่หมวดหมู่ Martech ที่ผู้คนให้ความสำคัญในปี 2024 มากที่สุด คือ หมวดหมู่ข้อมูล, หมวดหมู่โซเชียลและความสัมพันธ์ และ หมวดหมู่การพาณิชย์และการขาย เมื่อดูตามเป้าหมายในการใช้งานที่ต้องการเพิ่มยอดขายเป็นหลัก ซึ่งเครื่องมือจากทั้ง 3 หมวดหมู่นี้เป็นปัจจัยสำคัญในการมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้า โดยเฉพาะหมวดหมู่ข้อมูล ที่มองว่ามีแนวโน้มสำคัญในปี 2024 สูงถึง 95%

จากการสำรวจใน Thailand’s Martech Report 2024 งบที่องค์กรจะลงทุนกับ Martech นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงเฉลี่ย 46% ต่องบการตลาดองค์กร เมื่อเทียบกับปี 2023 ที่ลงทุนเฉลี่ยที่ 10-30%

หากจะเจาะถึงความเคลื่อนไหวในไทยนั้น “คุณแบงค์” สิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์ ซีอีโอ Content Shifu และ “คุณเอง” บังอร สุวรรณมงคล ซีอีโอของ Hummingbirds Consulting ได้กล่าวถึงไฮไลต์ของข้อมูลเชิงลึกในงานแถลงข่าว Thailand’s Martech Report 2024 Press Conference ไว้ในหลายแง่มุม

คุณแบงค์ได้กล่าวภาพรวมสถิติการใช้มาร์เทคในไทยตลอดปีที่ผ่านมาว่า ผู้ประกอบการและองค์กรในไทยถึง 33% ยังคงแบ่งสรรเงินมาลงทุนกับมาร์เทคค่อนข้างน้อย โดยคิดเป็นจำนวนต่ำกว่า 1% ของงบประมาณทั้งหมด หรือน้อยกว่า 10% ของงบประมาณการตลาดโดยรวม

พร้อมกับยกตัวอย่างของมาร์เทคที่มีการใช้งานอยู่แล้ว บริการจากผู้ให้บริการเจ้าใหญ่อย่างไลน์ กูเกิล และเมต้า ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดในไทย เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนมากเลือกที่จะใช้มาร์เทคเดิม ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยดี มากกว่าที่จะทดลองใช้เครื่องมือใหม่ ๆ เนื่องจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความยากในการใช้งานของฟีเจอร์ หรือปัญหาต้นทุนจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูล

นอกจากนี้ ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ในโซเชียลมีเดียดัง เช่น ติ๊กต๊อก (TikTok) หรือเทคโนโลยีเอไอที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่า จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการมาร์เทคไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดคอนเทนต์ ที่จะมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ หลากหลายประเภทให้กับลูกค้า เช่น คอนเทนต์แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive content) หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative ai)

สำหรับมาร์เทคหมวดหมู่อื่น ๆ เช่น มาร์เทคด้านข้อมูล และมาร์เทคเพื่อการทำงานร่วมกัน มีแนวโน้มว่า จำนวนผู้ใช้ชาวไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ (Analytics) ที่คาดว่า จะมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 77%

ขณะเดียวกัน ก็มีเครื่องมือมาร์เทคหมวดโซเชียลบางประเภทเช่นกันที่จำนวนผู้ใช้งานมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลง เช่น โปรแกรมเว็บบินาร์ (Webinar) ซูม (Zoom) ที่อาจจะมีผู้ใช้งานน้อยลงหลังจากสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไปแล้ว

ความง่ายในการใช้งานมาร์เทคสำคัญ!

นอกเหนือจากความคุ้นเคยแล้ว วิธีการใช้งานที่สะดวกก็มีผลต่อการเลือกหยิบมาร์เทคมาใช้ไม่แพ้กัน หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การใช้โปรแกรม Canva เพื่อสร้างคอนเทนต์แบบมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า แทนชุดโปรแกรมดั้งเดิมอย่างโฟโต้ชอปของ Adobe เนื่องจากหน้าโปรแกรมและวิธีการใช้งานที่เข้าใจง่ายกว่า เหมาะสำหรับผู้ใช้ทุกระดับ สำหรับประเด็นนี้ คุณแบงค์ได้เน้นย้ำกับผู้ให้บริการมาร์เทคในไทยว่า เทคโนโลยีที่ใช้งานง่ายนั้นมีความสำคัญไม่แพ้ความทันสมัยหรือจำนวนของฟีเจอร์บนโปรแกรม

แม้จะมีมาร์เทค ‘เจ้าใหญ่’ ที่ผู้ใช้งานในไทยคุ้นเคยกันดีอยู่หลายเทคโนโลยี คุณแบงค์ยังคงยืนยันว่า โดยภาพรวมแล้ว ตลาดมาร์เทคไทยมีลักษณะและรูปแบบที่เฉพาะทางแตกแยกย่อยกันไป (Fragmentation) อยู่มาก ไม่มีอุปกรณ์จากบริษัทใดที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ครองตลาดอย่างชัดเจน และยังคงมีพื้นที่และโอกาสสำหรับผู้ให้บริการสัญชาติไทย เนื่องจากมาร์เทคไทยไม่ได้ติดปัญหาเรื่องกำแพงภาษา สามารถเข้าใจและตอบสนองความต้องการท้องถิ่น โดยเฉพาะตลาดคนไทยด้วยกันได้มากกว่ามาร์เทคต่างชาติ

คุณแบงค์ทิ้งท้ายว่า จำนวนมาร์เทคใหม่ ๆ ในตลาดไทยจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเป็นดาบสองคมสำหรับผู้ใช้งานเมื่อต้องเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะกับธุรกิจ ดังนั้น ผู้ใช้งานจึงควรจะระบุความต้องการและเป้าหมายของตนให้ได้อย่างชัดเจน

ผู้ประกอบการต้องชัดเจนเรื่องเป้าหมายและความต้องการ

ทางด้านคุณบังอร ซีอีโอของ Hummingbirds Consulting กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีไปไกลกว่าการพัฒนาขององค์กรมากจนเกิดช่องโหว่ การใช้มาร์เทค จะเป็นโซลูชันที่จะเข้ามาช่วยปิดช่องโหว่ตรงนี้ได้ โดยมาร์เทคจะช่วยเพิ่มความเร็ว ความพึงพอใจของลูกค้า และประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อผลลัพธ์สูงสุด สำหรับขั้นตอนการเลือกใช้มาร์เทคนั้น ผู้ประกอบการไทยมีปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อ คือ วัตถุประสงค์หรือสิ่งที่ธุรกิจของตนต้องการ เป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ ความน่าเชื่อถือ และหากเป็นองค์กรขนาดเล็ก ปัจจัยในเรื่องความยากง่ายของการใช้งานก็จะเข้ามามีผลด้วย

แต่ถึงแม้วัตถุประสงค์จะเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งของการเลือกอุปกรณ์และเทคโนโลยี แต่ปัจจุบัน ผู้ใช้ส่วนมากกลับยังไม่สามารถระบุวัตถุประสงค์ของการใช้มาร์เทคกับธุรกิจของตัวเองได้อย่างเป็นแบบแผนชัดเจน จึงเป็นโอกาสของผู้ให้บริการมาร์เทคที่จะช่วยเหลือ ทำความเข้าใจ และนำเสนอโซลูชันที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับลูกค้า

และเพื่อให้สามารถใช้มาร์เทคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ “คุณเอง” ได้แนะนำกลยุทธ์ 5P ให้กับผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่

Planning and strategies วิเคราะห์ ทำความรู้จักตัวเอง คู่แข่ง และกลุ่มเป้าหมาย

People เตรียมบุคลากรให้พร้อมสำหรับการใช้มาร์เทค ทั้งในด้านทักษะและทัศนคติต่อการใช้งาน

Process สร้างกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ ต้องรู้ให้ชัดเจนว่าเครื่องมือจะเข้ามาอยู่ในขั้นตอนใด และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในขั้นตอนการทำงาน

Platform คือการเลือกใช้มาร์เทคที่เหมาะสม ตอบสนองความต้องการจากสามข้อก่อนหน้า

และข้อสุดท้าย Pioneer คือการแต่งตั้งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านมาร์เทคที่จะช่วยกำหนดทิศทางการเติบโตขององค์กรในอนาคต

ท้ายที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดที่ “คุณเอง”เน้นย้ำ คือ “กลยุทธ์” เพราะการมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ดีแต่ไม่มีกลยุทธ์ แผนการ หรือวิธีใช้ ก็ไม่สามารถทำให้ธุรกิจชนะเกมการตลาดได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top