กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) เผยผลการสนับสนุนทุนปี 2566 แก่โครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาตลาดทุน 47 โครงการ จาก 24 หน่วยงาน สูงสุดในรอบ 4 ปีตั้งแต่จัดตั้ง CMDF มูลค่ารวมกว่า 680 ล้านบาท พร้อมผลักดันการดำเนินงานปี 2567 ในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถแก่ระบบนิเวศน์ของตลาดทุนไทยให้ครอบคลุมผ่านวัตถุประสงค์หลักทั้ง 4 ด้าน และมุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับให้ตลาดทุนไทยเติบโตได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ คณะกรรมการ CMDF กล่าวว่า การดำเนินงานสำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา CMDF ยังคงคำนึงถึงการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศน์ของตลาดทุนไทยให้ครอบคลุมผ่านวัตถุประสงค์หลักทั้ง 4 ด้าน และให้ความสำคัญต่อโครงการที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) และการให้ความรู้ด้านตลาดทุนต่อประชาชนและนักลงทุนมากขึ้นด้วย
โดยในภาพรวมปี 2566 CMDF สนับสนุนทุนจำนวนโครงการมากขึ้นร้อยละ 38 แต่มูลค่าการสนับสนุนทั้งหมดลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (2563 – 2566) CMDF ได้อนุมัติสนับสนุนทุนทั้งสิ้น 131 โครงการ รวมมูลค่ามากกว่า 2,700 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566 จำนวน 32 โครงการจากทั้งหมด 49 โครงการ
ในปีที่ผ่านมา CMDF ยังคงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง 5 โครงการ ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินงานของศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) หรือ การสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรในตลาดทุน 10 โครงการ ที่ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการในตลาดทุน บริษัทจดทะเบียนทั้งใน SET และ mai และหน่วยงานกำกับต่างๆ
นอกจากนี้ CMDF ยังขยายขอบเขตการพัฒนาบุคลากรไปถึงระดับนักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อให้ตลาดทุนมีความพร้อมมากขึ้นในอนาคต ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนอาจารย์มหาวิทยาลัยเรียนหลักสูตร Certificate in Quantitative Finance (CQF) ด้านการพัฒนาให้ความรู้ประชาชนและนักลงทุน ในปี 2566 มีการสนับสนุน 13 โครงการ อาทิ โครงการที่จัดทำเพื่อกลุ่มนักศึกษาและ first jobber ผ่านโครงการ Rookie Investor League โครงการ Make a Move ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและมีผู้เข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 20,000 ราย การสนับสนุน Capital Market Case Competition ซึ่งจัดทำโดย Investment Banking Club ที่มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 2,000 คน เป็นต้น
นอกจากนี้ CMDF ร่วมประกาศเจตนารมณ์กับพันธมิตรในตลาดทุน องค์กรธุรกิจและหน่วยงานของรัฐ ภายใต้โครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” และสนับสนุนการจัดทำแคมเปญ “ครูเพ็ญศรีจับโกงลงทุน” และ “เช็กทุกดอกไม่โดนหลอกลงทุน” เพื่อรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันประชาชน ตระหนักถึงภัยจากมิจฉาชีพที่ชักชวนให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรง และพบเจอได้หลากหลายรูปแบบ โดยดำเนินผ่านสื่อในหลากหลายรูปแบบทั้งรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ สื่อโฆษณา สื่อออนไลน์ การจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์ และกิจกรรมมินิทอล์คโชว์ เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรนำไปใช้เพื่อสื่อสารข้อเท็จจริงและสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ โดยสื่อเหล่านี้สามารถเข้าถึงประชาชนไปแล้วมากกว่า 100 ล้าน views
สำหรับงานด้านวิชาการ CMDF ได้ผลักดันงานวิจัยหรืองานวิชาการเชิงนโยบายผ่าน สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (Capital Market Research Institute : CMRI) โดยในปี 2566 ได้สนับสนุนงานวิจัยและงานวิชาการจำนวน 19 โครงการ และมีการนำเสนอผลงานวิชาการต่อสาธารณะ 9 โครงการ ครอบคลุมงานวิจัยเชิงนโยบาย เช่น การศึกษาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทย การศึกษาโอกาสทางธุรกิจ Private Debt ในตลาดทุนไทย และอุตสาหกรรมธุรกิจเงินร่วมทุน (Venture Capital) เป็นต้น
นอกจากนี้ CMDF ยังให้ความสำคัญขับเคลื่อนด้าน ESG เพิ่มมากขึ้น เช่น การสนับสนุนและส่งเสริมการระดมทุน ESG Bond หรือการส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืนผ่านการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (กองทุน ThaiESG) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทั้ง 22 บลจ.
“คณะกรรมการ CMDF เชื่อว่าการสนับสนุนทุนของ CMDF ใน 4 ปีที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป โดยโครงการสนับสนุนทุนบางส่วนเริ่มให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุนและ CMDF หน่วยงานกำกับ และผู้ประกอบการในตลาดทุน สามารถใช้ข้อมูลจากโครงการเหล่านี้ในการพัฒนาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจตลาดทุนในอนาคต” ดร. ประสาร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 67)
Tags: กองทุนส่งเสริมตลาดทุน, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล